xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คมนาคมลงพื้นที่ภูเก็ตพร้อมจัดงบเดินหน้าโครงการแก้ปัญหาจราจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ภูเก็ต รับทราบปัญหาและติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างแก้ปัญหาการจราจรภูเก็ตในระยะยาว พร้อมจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่เดินหน้าต่อโครงการที่ศึกษาออกแบบแล้วเสร็จ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านการเห็นชอบของ สผ.แล้ว เพื่อแก้ปัญหาจราจรทั้งระบบตั้งแต่ตอนเหนือถึงตอนใต้ของเกาะ ด้านโครงการใหญ่ อุโมงค์ป่าตอง รถไฟฟ้ารางเบา อยากให้คนท้องถิ่นได้ร่วมลงทุนในลักษณะกองทุน ฝากผู้บริหารทุกระดับกำหนดเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมวางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (28 ก.ย.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสร้อยฟ้า ไตรสุทธิ ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจราชการและรับทราบความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบการคมนาคมในภูเก็ต ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ โดยมี นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นร่วมบรรยายสรุปโครงการก่อสร้างคมนาคมทางถนน ทางบก และทางอากาศในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ ห้องประชุมสโมสรวิทยุการบินภูเก็ต

นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับการก่อสร้างระบบคมนาคมทางบกในภูเก็ตเพื่อแก้ปัญหาการจราจร ว่า ภูเก็ตมีถนนที่เป็นถนนหลักเพียงเส้นเดียวคือ ทางหลวงหมายเลข 402 หรือถนนเทพกระษัตรี ซึ่งปัจจุบันภูเก็ตมีปัญหาจราจรติดขัดในเขตตัวเมืองภูเก็ต และจุดที่เชื่อมไปยังแหล่งท่องเที่ยว ทางกระทรวงคมนาคมจึงได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างทางลอดในหลายจุดเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยขณะนี้ได้ก่อสร้างในส่วนของทางลอดดาราสมุทรที่จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ และทางลอดสามกอง กำลังก่อสร้างอยู่เช่นกัน นอกจากนี้ ที่ได้ทำการศึกษาแล้วเสร็จและอยู่ในขั้นตอนของการของบประมาณมาดำเนินการคือ ทางลอดที่บริเวณสามแยกบางคู และทางลอดที่บริเวณห้าแยกฉลอง ที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาออกแบบรายละเอียด และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางลอดทั้ง 2 จุดนี้จะของบประมาณในปี 2559 มาดำเนินการก่อสร้างต่อไป หากทางลอดทั้ง 4 จุดก่อสร้างแล้วเสร็จการระบายรถจะสะดวกขึ้นแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ทางจังหวัดภูเก็ตยังได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมทางหลวงชนบทก่อสร้างทางยกระดับที่คลองเกาะผี เพื่อระบายการจราจรทางตอนใต้ของตัวเมืองภูเก็ต ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และเป็นไปตามกำหนด รวมทั้งทางกรมทางหลวงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างถนนคู่ขนานกับถนนเทพกระษัตรี จากบ้านสาคู-เกาะแก้ว ระยะทาง 30 กว่ากิโลเมตร ถนนวัดหลวงปู่สุภา-ฉลอง ระยะ ทาง 13 กม.เพื่อเชื่อมการเดินทางฝั่งฉลองไปป่าตอง การออกแบบแล้วเสร็จอยู่ในขั้นตอนการขอความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เนื่องจากถนนสายดังกล่าวต้องตัดผ่านป่าโซนซี

รวมทั้งยังมีโครงการอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษ และโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จากท่านุ่น-สนามบิน-ห้าแยกฉลอง ที่อยู่ในความรับผิดชอบ สนข.เป็นต้น

ด้านนายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ กทพ.เข้ามาดูแลโครงการอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งทาง กทพ.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการทั้งหมด รวมทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งการศึกษาทั้งหมดได้แล้วเสร็จและนำ EIA เสนอต่อ สผ.ในเดือนตุลาคม 2557 นี้ และตามกำหนดการนั้นที่วางไว้อุโมงค์ดังกล่าวจะสามารถเปิดใช้ได้ในปี 2563

โดยจะเป็นอุโมงค์มีความยาว 3.98 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ถนนสาย ก.ป่าตอง และไม่สิ้นสุดจบที่ถนน 4029 ความยาวอุโมงค์ 1.83 กิโลเมตร 4 ช่องจราจร แบ่งเป็นช่องสำหรับรถยนต์ 2 ช่อง รถจักรยานยนต์ 2 ช่อง จากผลการศึกษาใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 10,496 ล้านบาท และจากการศึกษาจะเป็นในลักษณะของการร่วมลงทุนระหว่าง กทพ. กับเอกชน

ขณะที่ นายพีรพล ถาวรศุภเจริญ ผอ.สนข.ได้ชี้แจงความคืบหน้าโครงการรถไฟเส้นทางศีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น จ.พังงา และโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในภูเก็ต ว่า ทาง สนข.ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ และรายละเอียดของโครงการรถไฟในเส้นทางดังกล่าวเพื่อรองรับการขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว โดยในส่วนของรถไฟจากศีรีรัฐนิคม-ท่านุ่นนั้น จะเป็นระบบรถไฟปกติของไทย และทางในเส้นทางที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เวนคืนที่ดินไว้แล้วมาบรรจบที่ท่านุ่น ซึ่งจะมีสถานีสำหรับผู้โดยสารและสินค้า และเมื่อเป็นการเชื่อมต่อการขนส่งผู้โดยสารจากท่านุ่นมายังภูเก็ต ทาง สนข.ได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า ระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้ารางเบามีความเหมาะสมต่อภูเก็ตมากที่สุด โดยจะเป็นเส้นทางจากท่านุ่น-สนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร มีทั้งหมด 20 สถานี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้เงินลงทุนประมาณ 23,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทางกรมเจ้าท่าได้นำเสนอโครงการลงเรือขึ้นเครื่อง ซึ่งเป็นโครงการที่ทางกรมเจ้าท่าเห็นว่าจะสามารถแก้ปัญหาการจราจรของภูเก็ต และเป็นการสร้างทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยว โดยจะมีการก่อสร้างท่าเรือรูปตัวแอลที่บริเวณใกล้กับวิทยุการบิน ขนาดไม่เกิน 100 ตันกรอส ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือและการติดตั้งระบบ GPS เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทางเรือที่ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และได้รับการจัดสรรงบประมาณกลุ่มจังหวัดอันดามันอีก 40 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2558 เพื่อขยายโครงการให้ครอบคลุมทั้งอันดามัน

นอกจากนี้ ทางการท่าภูเก็ตได้นำเสนอการพัฒนาสนามบินภูเก็ตเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งประสิทธิภาพของศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ตอีกด้วย

หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่ท่านุ่น จุดที่จะก่อสร้างสถานีผู้โดยสาร และสินค้าของรถไฟเส้นทางคีรีรัฐนิคม สำรวจเส้นทางคมนาคมทางถนนของภูเก็ต จุดก่อสร้างทางลอดสามแยกบางคู สามกอง ดาราสมุทร และห้าแยกฉลอง ซึ่งที่บริเวณห้าแยกฉลอง นายสำราญ จินดาพล นายกเทศมนตรีตำบลฉลอง นายอรุณ โสฬส นายกเทศบาลตำบลราไวย์ และชาวบ้านได้ให้การต้อนรับ และขอให้ทางรัฐมนตรีฯสนับสนุน และจัดสรรงบประมาณมาก่อสร้างทางลอดห้าแยกฉลองด้วย เนื่องจากบริเวณห้าแยกฉลองการจราจรติดขัดมากในช่วงเวลาเร่งด่วน และขณะนี้การศึกษาออกแบบฯ โครงการดังกล่าวก็ใกล้จะแล้วเสร็จ โดยขอให้จัดสรรงบประมาณในปี 2559 นี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว เนื่องจากจุดดังกล่าวเป็นจุดผ่านไปทางหาดราไวย์ แหลมพรหมเทพ หาดกะตะ กะรน เป็นต้น

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมในภูเก็ตทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศนั้น หากเป็นโครงการที่ได้ทำการศึกษาออกแบบรายละเอียด และผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ ให้เดินหน้าโครงการต่อไป โดยทางกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการต่อไป เพราะภูเก็ตมีความจำเป็นที่จะดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องของการคมนาคมให้เพียงพอต่อการรองรับการเติบโตของเมือง และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ต ซึ่งการลงมาพื้นที่วันนี้ทำให้ได้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคทางด้านคมนาคมของภูเก็ตจากผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศว่าเป็นอย่างไร และมีส่วนไหนที่จะต้องเร่งรัดในการก่อสร้าง เพื่อให้การจราจรในภูเก็ตได้คลี่คลาย และให้ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าจดจำตลอดไป โดยการรักษาสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืน

ส่วนงบประมาณที่จะจัดสรรให้แก่ภูเก็ตในการดำเนินโครงการแก้ปัญหาการจราจร และเพิ่มขีดความสามารถด้านคมนาคมนั้น จะต้องมีการประชุมกันอีกครั้งถึงความเหมาะสม และความเร่งด่วนของแต่ละโครงการ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จังหวัดภูเก็ตจะต้องดำเนินการนั้น การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของเมือง โดยจะต้องประมาณการว่าในอีก 10-15 ปีข้างหน้า คนภูเก็ตจะมีเท่าใด คนที่เข้ามาทำงาน และนักท่องเที่ยวจะเข้ามาปีละเท่าใด เพื่อจะได้วางแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอ โดยการทำงานร่วมกันของหลายกระทรวง

พล.อ.อ.ประจิน ยังกล่าวถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในภูเก็ตเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและลดอุบัติเหตุ เช่น โครงการอุโมงค์กะทู้ โครงการรถไฟฟ้ารางเบา ว่า จะต้องถามความคิดเห็นของคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งทั้ง 2 โครงการน่าที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้ แม้ว่าต้องใช้งบประมาณการลงทุนที่สูงก็ตาม ซึ่งอาจจะออกมาให้รูปแบบของการร่วมลงทุนกับเอกชน และสิ่งสำคัญนั้นอยากจะให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบไปพิจารณาถึงการให้นักธุรกิจในพื้นที่ภูเก็ตได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อการลงทุนโครงการดังกล่าวด้วย เช่น อาจจะเป็นในรูปแบบของการจัดตั้งเป็นกองทุนแล้วจ่ายผลตอบแทนคืนในระยะเวลา 20-30 ปี คนพื้นที่จะได้มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของโครงการด้วย และการก่อสร้างโครงการนั้นไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ หรือเล็กจะต้องให้คนในพื้นที่เห็นด้วย และไม่ส่งผลกระทบทั้งวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม










 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น