ร.ฟ.ท.เซ็นสัญญาซื้อรถโดยสาร 115 คัน วงเงิน 4.66 พันล้าน รับมอบ 2 ชุดแรก ส.ค. 58 วางแผนวิ่งบริการ 4 เส้นทางหลัก เชียงใหม่, อุบลราชธานี, หนองคาย และชุมทางหาดใหญ่ พร้อมเตรียมปรับเพิ่มค่าโดยสาร 15% ใน 3 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับการยกระดับบริการใหม่ เน้นลูกค้าระดับกลางและบน ตั้งเป้าแข่งสายการบิน คาดมีผู้โดยสารปีละ 1.5 ล้านคน มีรายได้เพิ่มเฉลี่ยปีละ 1,250 ล้านบาท
วันนี้ (17 ต.ค.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อรถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับให้บริการเชิงพาณิชย์ (Passenger Coach Set) จำนวน 115 คัน วงเงินรวม 4,668.89 ล้านบาท โดยมีนายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์และอำนวยการ รักษาการแทนผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ร่วมลงนามกับนายประสิทธิ์ โพธสุธน ผู้มีอำนาจลงนามของกิจการร่วมค้าบีบีซี (บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด บริษัท ร่วมมิตรเหมืองแร่ จำกัด บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊กชั่น จำกัด) ซึ่งเป็นโครงการตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน ร.ฟ.ท. ปี 2553-2557 วงเงินลงทุน 176,806.28 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การจัดหารถโดยสารครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนปฏิรูปรถไฟปี 2553 ที่มีวงเงินลงทุนรวม 1.7 แสนล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.ไม่ได้จัดซื้อรถโดยสารมานานเกือบ 20 ปี โดยครั้งสุดท้ายจัดหาเมื่อปี 2538 โดยล่าสุดกิจการร่วมค้าบีบีซีจะส่งมอบรถจำนวน 2 ชุดแรก (ชุดละ 13 คัน) ได้ในเดือนสิงหาคม 2558 เพื่อให้สามารถบริการผู้โดยสารได้มากขึ้น และส่งมอบครบทั้งหมด 115 คันในเดือนสิงหาคม 2559 และในการจัดหาครั้งนี้สามารถต่อรองวงเงินลงจากกรอบ 4,981.05 ล้านบาทเหลือ 4,668.89 ล้านบาท
“รถโดยสารแบบใหม่นี้จะเป็นรถชุดที่มีบริการครบสมบูรณ์ เป็นรถปรับอากาศ ตู้ขายอาหาร มีห้องน้ำแบบปิด ซึ่งหากจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม ร.ฟ.ท.ต้องเสนอเรื่องเข้ามาให้นโยบายตัดสินใจ ซึ่งอาจจะมีการสนับสนุนในบางส่วนเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน เพราะถือว่ารถไฟเป็นระบบขนส่งหนึ่งที่บริการสาธารณะ (PSO) และจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายเรื่องรถเมล์ฟรีด้วย” นางสร้อยทิพย์กล่าว
ด้านนายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รักษาการแทนผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า รถโดยสารบริการเชิงพาณิชย์ 115 คันนี้จะมีรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 จำนวน 9 คัน รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 จำนวน 88 คัน รถโบกี้ขายอาหารปรับอากาศจำนวน 9 คัน และรถกำลังไฟฟ้าจำนวน 9 คัน โดยจะนำมาให้บริการเป็นรถด่วนพิเศษ 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่ ไปกลับวันละ 2 ขบวนต่อเส้นทาง รวมทั้งสิ้น 8 ขบวน และจะสอดคล้องกับแผนปรับปรุงเส้นทางต่างๆ ที่จะทำให้สามารถใช้ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ถึงปลายทางเร็วขึ้นเฉลี่ย 3 ชม.ต่อเส้นทาง และคาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณปีละ 1.5 ล้านคน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1,250 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขบวนรถใหม่จะมีบริการที่ดีขึ้น โดยมีกล้อง CCTV มีห้อง VIP เฉพาะ พร้อมบริการเสริมพิเศษ เช่น Shuttle Bus รับส่ง ตู้สำหรับคนพิการ ปรับปรุงด้านการตลาดใหม่ ทั้งระบบการจองตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ต ออนไลน์ และอบรมพนักงานให้บริการบนขบวนรถใหม่ โดยตั้งเป้าที่จะแข่งขันกับเครื่องบิน เน้นผู้โดยสารระดับกลางและบน ดังนั้นจะต้องปรับอัตราค่าโดยสารใหม่ให้สอดคล้องกับบริการและเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยตามแผนจะปรับอัตราค่าโดยสารขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 15% ภายใน 3 ปี
นายวิโรจน์กล่าวว่า ตามแผนจะใช้หัวรถจักรเก่าที่มีและหัวรถจักรใหม่ 50 คันที่อยู่ระหว่างการจัดซื้อซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งมอบใน 15 เดือน เป็นหัวลากรถโดยสารใหม่ 115 คันนี้ ซึ่งจะไม่มีปัญหาในการให้บริการ และในอนาคตจะมีการเสนอแผนจัดหารถโดยสารเพิ่มอีก 250 คัน เพื่อใช้บริการสำหรับเส้นทางระยะกลาง ซึ่งยังขาดแคลนรถโดยสารชั้น 1, 2
สำหรับความคืบหน้าโครงการจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ทดแทน GE จำนวน 50 คัน วงเงิน 6,562 ล้านบาท ซึ่งถูกคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบอยู่นั้น ขณะนี้ ร.ฟ.ท.เร่งปรับปรุงตามความเห็นของ คตร. และคาดว่าจะสรุปเสนอ คตร.ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ส่วนการจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า ขนาด 20 ตันเพลา จำนวน 20 คัน พร้อมอะไหล่มูลค่า 3,300 ล้านบาท ซึ่ง บริษัท ป่าไม้สันติ จำกัด เป็นผู้ชนะประมูลนั้น จะมีการส่งมอบจากโรงงานผู้ผลิตจากประเทศจีน 2 หัว ชุดแรกในเดือนธันวาคม 2557 ชุดที่ 2 อีก 8 คัน ในเดือนเมษายน 2558 และชุดสุดท้าย จำนวน 10 คัน ในเดือนมิถุนายน 2558
นายประสิทธิ์ โพธสุธน ตัวแทนกิจการร่วมค้าบีบีซี กล่าวว่า รถโดยสาร 115 คันนี้จะผลิตที่โรงงาน บริษัท ฉางชุน เรลเวย์วีฮิเคิลส์ จำกัด (บริษัทรถไฟฉางชุน จำกัด - CNR Changchun Railway Vehicle Co.Ltd.) ซึ่งมีความชำนาญในการผลิตรถไฟที่มีศักยภาพสูงของจีน โดยสามารถผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้ปีละกว่า 5,000 คัน