ซี.พี.ขยายการลงทุนเพิ่มในประเทศ CLMV รองรับการเปิด AEC แย้มปีหน้าลงทุนราวพันล้านบาทในการขยายโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพิ่มที่ลาวและกัมพูชา พร้อมทั้งปรับยุทธศาสตร์รุกลงทุนในพม่าเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ แนะไทยจับมือ CLMV วางยุทธศาสตร์ร่วมกันแล้วแชร์ผลประโยชน์ทั้งด้านท่องเที่ยว และการเกษตร แทนที่จะแข่งขันกันเอง เผย ซี.พี.เตรียมสยายปีกลงทุนแอฟริกาเพิ่ม จ่อตั้งโรงงานอาหารสัตว์ที่ประเทศเอธิโอเปีย
นายวิทยา เกรียงไกรวิทย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจอาหารสัตว์ เขตประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา บริษัท ซี.พี.กัมพูชา จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในงานเสวนายุทธศาสตร์รุก-รับ CLMV+ไทย ก่อนก้าวสู่ AEC วานนี้ (14 ต.ค.)ว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) มานาน 20 ปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% นับจากนี้ โดยวางเป้าหมายยอดขายของกลุ่ม ซี.พี.ใน CLMV โตขึ้นอีกเท่าตัวภายใน 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ซี.พี.มีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มเติมในปี 2557-2558 ใช้เงินลงทุนเกือบ 1 พันล้านบาทในประเทศกัมพูชา และลาว โดยจะตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์อีกแห่งที่ไพลินขนาดกำลังการผลิต 1.5 แสนตัน จากปัจจุบันมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์อยู่แล้ว 3.6 แสนตัน/ปีที่พนมเปญ ใช้เงินลงทุน 700 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปีหน้า เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบทั้งข้าวโพดและมันที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ โดยบริษัทได้มีการส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกอยู่แล้ว รวมทั้งขยายการลงทุนฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ ฟาร์มสุกร และธุรกิจแปรรูปอาหารอีก 30 ล้านบาทด้วย โดยจะเน้นผลิตไส้กรอก ไก่จ๊อ เป็นต้น
บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดธุรกิจอาหารสัตว์ในกัมพูชาถึง 40% ของปริมาณตลาดรวม 7-8 แสนตัน/ปี และมีร้านขายไก่ทอด 5 ดาวถึง 200 จุดทั่วประเทศ และเปิดร้าน ซี.พี.เฟรชมาร์ทด้วย
ส่วนการลงทุนที่ลาวก็มีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่จำปาสัก ใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท จากเดิมที่มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์อยู่แล้วที่เวียงจันทน์
“ทางกลุ่มธุรกิจสัตว์น้ำของ ซี.พี.อยู่ระหว่างการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจกุ้งในกัมพูชา เพื่ออาศัยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยุโรป และสหรัฐฯ เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศที่ได้สิทธิพิเศษทางภาษีจีเอสพี ปัจจุบันยอดขาย ซี.พี.ในกัมพูชาอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท/ปี โดยวางเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นเท่าตัว”
ที่ผ่านมา ซี.พี.ได้มีการลงทุนโรงงานอาหารสัตว์และฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ฟิลิปปินส์ ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 8 พันล้านบาทในช่วง 3-4 ปีที่แล้ว เพื่อรองรับความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศ
นายวิทยากล่าวต่อไปว่า ซี.พี.ยังมีการขยายการลงทุนไปยังประเทศแถบแอฟริกาด้วย โดยมีแผนจะตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่เอธิโอเปีย จากปัจจุบันมีการลงทุนตั้งโรงงานอาหารสัตว์อยู่ที่ประเทศแทนซาเนียเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว และมีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มเติมไปสู่ฟาร์มไก่ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นโอกาสการทำธุรกิจ เพราะแอฟริกามีประชากรสูงถึง 1 พันล้านคน
กลุ่มประเทศ CLMV เช่น ลาว กัมพูชามีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 6-7% มาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในอนาคตก็จะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างมาก ไทยควรโฟกัสประเทศเหล่านี้ รวมทั้งทำตลาดส่งออกสินค้าไปตลาดประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มประเทศ CLMV ยังมีทรัพยากรธรรมชาติ ค่าแรงงานต่ำ การเมืองมีเสถียรภาพ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ไทยจะเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านี้
นายบุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนากลยุทธ์และธุรกิจ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวว่า การเปิด AEC จะทำให้โอกาสใหญ่ขึ้น เนื่องจากประชากรของไทยที่มีอยู่กว่า 60 ล้านคนจะเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านคน ซึ่งจะเกื้อประโยชน์ต่อผู้ที่มีความสามารถ โดยไทยควรร่วมมือกับบรรดาประเทศ CLMV มากกว่าแข่งขัน เนื่องจากมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ศาสนาคล้ายคลึงกัน
จึงเป็นโอกาสที่จะร่วมมือกันพัฒนาหรือวางกลยุทธ์ร่วมกันและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การท่องเที่ยว ด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น โดยให้ไทยเป็นผู้นำในการดึงประเทศ CLMV มาร่วมมือกันในการวางยุทธศาสตร์ เนื่องจากไทยเปิดประเทศมาก่อน
เดิม ซี.พี.วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในพม่าแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หลังจากพม่าเปิดประเทศก็ปรับกลยุทธ์ให้มุ่งเน้นการขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีประชากรมาก โดยเข้าไปลงทุนตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงไก่และสุกร รวมทั้งจะขยายสู่ธุรกิจอาหารเพิ่มมากขึ้น ทั้งไก่ย่าง 5 ดาว ไส้กรอก ซี.พี. เป็นต้น
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยตกชั้นจากประเทศกำลังพัฒนาเมื่อเทียบการโตทางเศรษฐกิจกับ 5 ประเทศก่อตั้งอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ที่จีดีพีโตเฉลี่ยปีละ 5.2-5.3% แต่ไทยมีจีดีพีโตเพียง 3.3% และไทยยังตกชั้นเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลกที่โตกว่า 3% แต่ไทยโตเพียง 2% เท่านั้น
ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องร่วมมือกับประเทศ CLMV ทำให้เป็นเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกัน รวมไปถึงสังคม และวัฒนธรรม ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนที่เป็นเกาะ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียนั้น เป็นประเทศที่มีความเป็นคู่แข่งมากกว่าพาร์ตเนอร์ เนื่องจากการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย จึงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายยุทธศาสตร์ของไทย
ทั้งนี้ ประเทศ CLMV จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก 8-9 เรื่อง คือ จะมีการเปลี่ยนแปลงยานพาหนะที่ใช้จากเดิมจักรยานเป็นมอเตอร์ไซค์ การปฏิวัติร้านโชวห่วย การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่การเกิดโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก การปฏิวัติสินค้าอุปโภคและบริโภค, การปฏิวัติทางการเกษตร ที่จะมีการขยายพื้นที่ทางการเกษตรอย่างมาก, มีอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าเกิดขึ้น, การขยายตัวของภาคก่อสร้าง, ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น และเศรษฐกิจการค้าชายแดนเฟื่องฟู
ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไทยจะต้องนำไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไรที่จะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมทั้งดันในตัวเองเป็นศูนย์กลางด้านซัปพลายเชนในกลุ่ม CLMV จากเดิมที่เคยเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) เพื่อยกระดับชั้นของประเทศไทยให้สูงขึ้นโดยอาศัยการวิจัยและพัฒนา (R&D) และมุ่งสู่เศรษฐกิจที่อิงธุรกิจบริการมากขึ้น โดยวางเป้าหมายให้ไทยมีสัดส่วนภาคบริการเพิ่มขึ้นเป็น 55-60% ของจีดีพีภายใน 2 ปีข้างหน้า รวมถึงการบริโภคภายในประเทศมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 55% ของจีดีพี