รฟม.เปิดซองคุณสมบัติผู้รับเหมา 5 กลุ่ม ใน 4 สัญญาประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ 2.6 หมื่นล้าน ตั้งเป้าลงนาม มิ.ย. 58 เดินหน้าก่อสร้าง คนกรุงอ่วมแน่ เตรียมเลี่ยงแยก รัชโยธิน และเกษตร ตามแผนต้องทุบสะพานข้ามแยกทำโครงสร้างรถไฟฟ้า
นายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคางานโยธาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 26,465 ล้านบาท เปิดเผยภายหลังเปิดซองข้อเสนอที่ 1 (คุณสมบัติทั่วไป) ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 4 กลุ่ม วานนี้ (6 ต.ค.) ว่า ได้มีการตรวจสอบความครบถ้วนของคุณสมบัติ ซึ่งเบื้องต้นพบว่าผู้ยื่นทั้ง 4 กลุ่มส่งเอกสารครบตามที่กำหนดไว้เงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โดยขั้นตอนจากนี้คณะกรรมการประกวดราคาฯ จะตรวจสอบความถูกต้องของคุณสมบัติ โดยหลักเกณฑ์ในการให้คะแนน 4 ประเด็น คือ ทุนจดทะเบียน รายได้ย้อนหลัง 3 ปี ประสบการณ์การทำงาน และสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนหรือแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นผู้ที่ผ่านข้อเสนอด้านคุณสมบัติจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน และคาดว่าจะสรุปผลการเปิดข้อเสนอด้านราคาได้ภายในเดือนธันวาคม 2557
ทั้งนี้ เมื่อสรุปผลแล้ว ตามขั้นตอนคณะกรรมการประกวดราคาฯ จะรายงานผลต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. และเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยตามกรอบเวลาการทำงาน คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญากับผู้รับงานทั้ง 4 สัญญาได้ภายในเดือนมิถุนายน 2558 และใช้ระยะเวลาก่อสร้างรวม1,350 วัน นับจากวันลงนาม
นายสัจจพงศ์กล่าวถึงการเตรียมพร้อมในการก่อสร้างว่า การก่อสร้างจะใช้พื้นที่บนเกาะกลางถนนเป็นหลัก ส่วนทางขึ้นลงจะใช้ทางเท้า ซึ่งได้ประสานการใช้พื้นที่กับกรุงเทพมหานครไว้เบื้องต้นแล้ว ส่วนการเวนคืนที่ดินนั้นส่วนใหญ่เป็นบริเวณโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) ที่คูคต พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน โดย รฟม.ได้รับงบประมาณในการเวนคืนแล้วประมาณ 7,800 ล้านบาท
โดยช่วงต้นปี 2558 รฟม.จะเริ่มเข้าสำรวจพื้นที่ก่อสร้างโดยละเอียด ซึ่งตามแผนก่อสร้างจะไปตามแนวถนนพหลโยธิน โดยจะมีการทุบสะพานข้ามแยกรัชโยธินทิศทางถนนรัชดาภิเษกปรับเป็นอุโมงค์แทน เพื่อก่อสร้างโครงสร้างของสายสีเขียวในทิศทางถนนพหลโยธิน ส่วนแยกเกษตรจะมีการทุบสะพานข้ามแยกเช่นกัน โดยจะทำการก่อสร้างสะพานใหม่คู่ไปกับโครงสร้างของรถไฟฟ้า ส่วนวงเวียนหลักสี่แนวรถไฟฟ้าจะอ้อมไปทางด้านขวาผ่าน สน.บางเขน เพื่อลดผลกระทบการเวนคืน