xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันปิโตรเลียมเผยสำรองก๊าซฯ อ่าวไทยจะมีใช้อีกแค่ 6-8 ปีหากไม่สำรวจเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันปิโตรเลียมเผยหากไทยไม่มีการจัดหาปิโตรเลียมเพิ่มจะกระทบให้ก๊าซฯ สำรองในอ่าวไทยหมดลงในอีก 6-8 ปีข้างหน้า และที่สำคัญจะกระทบต่อการผลิตแอลพีจี เหตุ LNG นำเข้าไม่มีคุณสมบัติที่จะผลิตปิโตรเคมีได้ ยันการใช้ในปิโตรเคมีจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่าเอาไปเผา
 



นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 หากเป็นไปตามแผนทั้งหมดมีการต่ออายุแหล่งเอราวัณและบงกชที่จะหมดอายุลงปี 2556-66 ได้โดยไม่กระทบการผลิต ไทยก็ยังคงต้องนำเข้าก๊าซฯ 85% และผลิตได้เองเพียง 15% เท่านั้น และบนสมมติฐานที่ไม่มีการสำรวจในประเทศเพิ่มเติม ปี 2563-2564 โรงก๊าซฯหน่วยที่ 1 ก็ไม่มีก๊าซฯ อ่าวไทยป้อนได้เพียงพอ แอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) จะเริ่มขาดแคลน ซึ่งสิ่งที่น่าห่วงคือ LNG นำเข้าไม่มีคุณสมบัติเหมือนก๊าซอ่าวไทยในการผลิตปิโตรเคมีได้ ดังนั้นแอลพีจีก็จะไม่พอป้อนโรงงานปิโตรเคมีจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย

กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือไม่มีการจัดหาเพิ่มจากปัจจุบันและสัมปทานเดิมไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง ก๊าซฯ ที่จัดหาจากในประเทศพบว่าปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (P1) ที่มีอยู่ 8.4 ล้านล้าน ลบ.ฟ./วัน หากการผลิตคงอยู่ในระดับ 4,000 ล้าน ลบ.ฟ./วันจะถูกใช้หมดภายใน 6 ปี แต่เมื่อรวมกับสำรองที่คาดว่าจะพบ 50% จะใช้หมดใน 8 ปี ดังนั้นปี 2566 ไทยจะต้องนำเข้า 100% ระบบท่อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็คงไม่ต้องถกเถียงที่จะแย่งกัน และแอลพีจีทั้งหมดก็จะไม่เหลือ ทุกอย่างที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี 2535 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงแยกก๊าซฯ ก็จะหมดไป และกรณีนี้ไทยจะต้องสร้างคลัง LNG เพิ่มอีก 6-8 คลังจากนำเข้า 10 ล้านตันจะเป็น 40-50 ล้านตัน

“นับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันไทยมีการจัดหาก๊าซธรรมชาติและนำเข้าคิดเป็นมูลค่าถึง 4.53 แสนล้านบาทและจะมากยิ่งขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ การจัดหาจึงจำเป็นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อความอยู่รอดเราคงไม่เสี่ยงให้ขาดแคลนเช่นนั้นและจะพยายามบอกว่าก๊าซฯ อ่าวไทยมีคุณสมบัติที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้จึงไม่ควรจะเอาไปเผา ซึ่ง LNG เขาได้ดึงเอาองค์ประกอบที่ดีไปแล้วเหลือให้เราใช้แค่เป็นเชื้อเพลิง หากเราต้องนำเข้า LNG มากก็จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงกว่า 5.50 บาทต่อหน่วย เพราะราคาจะเฉลี่ย 15-16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ขณะที่ก๊าซปากหลุมในอ่าวไทยราคาเพียง 8 เหรียญ/ล้านบีทียู” นายศิริกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น