“ณรงค์ชัย”เดินหน้าออกประกาศให้เอกชนยื่นสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้ภายใน ต.ค.นี้ เปิดพื้นที่ 29 แปลงทั้งบนบกและทะเลให้สำรวจ พร้อมส่งสัญญาณปรับโครงสร้างราคาพลังงานอีกระลอก 22 ต.ค. อ้างการจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือระบบสัมปทาน รัฐก็ได้ประโยชน์ไม่ต่างกัน ด้านสถาบันปิโตรเลียมส่งสัญญาณเตือนก๊าซฯอ่าวไทยจะหมดอีก 6- 8 ปีหากไม่สำรวจเพิ่ม ไม่ต้องแย่งLPG ถึงปี 63-64 ก๊าซฯอ่าวไทยไม่พอป้อนโรงแยกที่ 1 แอลพีจีส่อขาดแคลนกระทบปิโตรเคมีระส่ำ
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการสัมนาให้ความรู้สื่อ หรือ Energy Forum ครั้งที่ 1 ว่า ภายในเดือนต.ค.นี้ กระทรวงพลังงานจะออกประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อที่จะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศรองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันวันที่ 22 ต.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาปรับโครงสร้างราคาพลังงานอีกครั้ง
“การที่ไทยจะเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศรวมถึงการจัดหาจากต่างประเทศสิ่งสำคัญก็คือจะต้องให้ราคาที่จะจัดหาและนำเข้ามาคุ้มค่าและคุ้มทุน กพช. 22 ต.ค.นี้จึงจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานอีกครั้ง”นายณรงค์ชัยกล่าว
สำหรับการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุประมาณปี 2565-66 จะพยายามสรุปให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ส่วนการเจรจาพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชามีการตั้งคณะทำงานร่วมกันแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการดำเนินการร่วมกันอยู่ แต่เกิดปัญหาทางการเมืองส่งผลให้ไม่สามารถตกลงเรื่องเส้นเขตแดนได้ ถ้าหากปัญหานี้ยุติลงก็สามารถที่จะตกลงร่วมกันได้ง่ายขึ้นโดยก็จะพยายามสรุปข้อตกลงให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้
“ ในการจัดหาเราต้องมองในประเทศและต่างประเทศ เพราะอย่างไรเราก็หนีไม่พ้นนำเข้าเพราะเราผลิตไม่พอใช้ ซึ่งหากนำเข้ามาก็จะเป็นในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ราคาจะแพงต้องสร้างคลังเก็บหรือเทอร์มินอล ลงทุนสูง ส่วนการเปิดสัมปทานในประเทศก็จะเป็นการยืดอายุก๊าซฯในประเทศที่จะหมดลงไปได้อีก ส่วนจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC ) หรือระบบสัมปทานผมว่ามันไม่ต่างกันในเรื่องประโยชน์ที่จะได้จากรัฐ ตัวอย่างแหล่งก๊าซฯภูฮ่อม 6 ปีรัฐก็ได้ค่าภาคหลวง ภาษีรวมเป็นเงินถึงหมื่นล้านบาท 40% ก็ตกกับชุมชนในพื้นที่” รมว.พลังงานกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้คณะกรรมการปิโตรเลียมได้เห็นชอบแนวทางการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่แล้ว โดยมีแหล่งที่จะเปิดสำรวจ 29 แปลงทั้งบนบกและทางทะเลซึ่งเพิ่มจากแผนเดิมที่รวมกันมีเพียง 27 แปลง คาดว่าหลังจากนี้จะเสนอรมว.พลังงานเห็นชอบประกาศต่อไป โดยขั้นตอนระหว่างนี้ก็จะประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อกำหนดพื้นที่เปิดสัมปทาน จากนั้นจะให้เอกชนมาพิจารณาเทคนิคการสำรวจว่าแปลงใดที่จะเสนอคาดว่าจะมีการยื่นขอสำรวจจริงได้อีก 3 เดือนข้างหน้า
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 หากเป็นไปตามแผนทั้งหมด มีการต่ออายุแหล่งเอราวัณและบงกชที่จะหมดอายุลงปี 2556-66 ได้โดยไม่กระทบการผลิตในปี 2573 ไทยก็ยังคงต้องนำเข้าก๊าซฯ 85% และผลิตได้เองเพียง 15% เท่านั้น และบนสมมติฐานที่ไม่มีการสำรวจในประเทศเพิ่มเติมปี 2563-2564 โรงก๊าซฯหน่วยที่ 1 ก็ไม่มีก๊าซฯอ่าวไทยป้อนได้เพียงพอ แอลพีจี(ก๊าซหุงต้ม) จะเริ่มขาดแคลน ซึ่งสิ่งที่น่าห่วงคือ LNG นำเข้าไม่มีคุณสมบัติเหมือนก๊าซอ่าวไทยในการผลิตปิโตรเคมีได้ ดังนั้นแอลพีจีก็จะไม่พอป้อนโรงงานปิโตรเคมีจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย
กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือไม่มีการจัดหาเพิ่มจากปัจจุบัน และสัมปทานเดิมไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง ก๊าซฯที่จัดหาจากในประเทศพบว่าปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว(P1) ที่มีอยู่ 8.4 ล้านล้านลบ.ฟุต/วัน หากการผลิตคงอยู่ในระดับ 4,000 ล้านลบ.ฟุต/วันจะถูกใช้หมดภายใน 6 ปีแต่เมื่อรวมกับสำรองที่คาดว่าจะพบ 50% จะใช้หมดใน 8 ปี ดังนั้นปี 2566 ไทยจะต้องนำเข้า 100%
ระบบท่อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็คงไม่ต้องถกเถียงที่จะแย่งกัน และแอลพีจีทั้งหมดก็จะไม่เหลือทุกอย่างที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี 2535 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงแยกก๊าซฯก็จะหมดไป และกรณีนี้ไทยจะต้องสร้างคลังLNGเพิ่มอีก 6-8 คลังจากนำเข้า 10 ล้านตันจะเป็น 40-50 ล้านตัน
“นับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันไทยมีการจัดหาก๊าซธรรมชาติและนำเข้าคิดเป็นมูลค่าถึง 4.53 แสนล้านบาท และจะมากยิ่งขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ การจัดหาจึงจำเป็นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อความอยู่รอด เราคงไม่เสี่ยงให้ขาดแคลนเช่นนั้นและจะพยายามบอกว่าก๊าซฯอ่าวไทยมีคุณสมบัติที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้จึงไม่ควรจะเอาไปเผา ซึ่ง LNG เขาได้ดึงเอาองค์ประกอบที่ดีไปแล้ว เหลือให้เราใช้แค่เป็นเชื้อเพลิง หากเราต้องนำเข้า LNG มากก็จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงกว่า 5.50 บาทต่อหน่วยเพราะราคาจะเฉลี่ย 15-16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ขณะที่ก๊าซปากหลุมในอ่าวไทยราคาเพียง 8 เหรียญ/ล้านบีทียู”
นายมงคลนิมิตร เอื้อเชิดกุล กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีประชากร 7,000 ล้านคนและจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคนในปี 2583 (ปี 2040 ) ซึ่งทั่วโลกจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอีก 30% ทั่วโลกจะให้ความสนใจเรื่องประหยัดพลังงานมาก และเชื้อเพลิงฟอสซิลจะยังเป็นพระเอกหลักต่อทั้งน้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ แต่ก๊าซธรรมชาติ จะมีบทบาทสูงสุดเนื่องจากมีสำรองถึง 200 ปี โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นผู้นำเข้าหลัก.