xs
xsm
sm
md
lg

“ณรงค์ชัย” ลุยเตรียมออกประกาศให้ยื่นสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ต.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ณรงค์ชัย” ลั่นพร้อมเตรียมออกประกาศให้เอกชนยื่นสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้ภายในเดือนนี้ หวังเร่งให้สำรวจในประเทศรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น พร้อมส่งสัญญาณปรับโครงสร้างราคาพลังงานอีกระลอกในการประชุม กพช. 22 ต.ค.นี้
 



นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในเดือน ต.ค.นี้กระทรวงพลังงานจะออกประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อที่จะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศรองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาตินับเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญที่ไทยยังมีความจำเป็นจะต้องจัดหาทั้งจากพื้นที่ภายในประเทศไทยเองและพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง

“การที่ไทยจะเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศรวมถึงการจัดหาจากต่างประเทศสิ่งสำคัญก็คือจะต้องให้ราคาที่จะจัดหาและนำเข้ามาคุ้มค่าและคุ้มทุน อย่างขณะนี้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV ราคาปัจจุบันก็ต่ำเกินไปไม่จูงใจจัดหาและนำเข้ามา เราก็ต้องชี้แจงเพื่อไม่ให้ขัดขวางการปรับราคาทั้งหลายจะได้ไม่ต้องมาโต้เถียงกันเพราะต้องเป็นราคาที่เป็นธรรมเอื้อให้มีการจัดหาและนำเข้ามาได้นอกเหนือจากที่เราประหยัดใช้แล้ว โดยการปรับโครงสร้างราคาอาจจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 22 ต.ค.นี้อีกครั้ง” นายณรงค์ชัยกล่าว

สำหรับการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุประมาณปี 2565-66 จะพยายามสรุปให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ส่วนการเจรจาพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการดำเนินการร่วมกันอยู่แต่เกิดปัญหาทางการเมืองส่งผลให้ไม่สามารถตกลงเรื่องเส้นเขตแดนได้ ถ้าหากปัญหานี้ยุติลงก็สามารถที่จะตกลงร่วมกันได้ง่ายขึ้น โดยจะพยายามสรุปข้อตกลงให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้

“การจัดหาเราต้องมองในประเทศและต่างประเทศ เพราะอย่างไรเราก็หนีไม่พ้นนำเข้าเพราะเราผลิตไม่พอใช้ ซึ่งหากนำเข้ามาก็จะเป็นในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ราคาจะแพงต้องสร้างคลังเก็บหรือเทอร์มินอล ลงทุนสูง ส่วนการเปิดสัมปทานในประเทศก็จะเป็นการยืดอายุก๊าซฯ ในประเทศที่จะหมดลงไปได้ อีกส่วนจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือระบบสัมปทาน ผมว่ามันไม่ต่างกันในเรื่องประโยชน์ที่จะได้จากรัฐ ตัวอย่างแหล่งก๊าซฯ ภูฮ่อม 6 ปีรัฐก็ได้ค่าภาคหลวง ภาษีรวมเป็นเงินถึงหมื่นล้านบาท 40% ก็ตกกับชุมชนในพื้นที่” รมว.พลังงานกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น