กฟผ.เดินหน้าเปิดรับฟัง EHIA ครั้งที่ 3 หรือ ค.3 ท่าเทียบเรือและโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดกระบี่ วันที่ 12 ต.ค.นี้ ลุ้นประกาศ TOR เชิญชวนประมูลก่อสร้างได้กลางปี 2558 มั่นใจจ่ายไฟเข้าระบบได้ตามแผนเดิมปี 2562 พร้อมเปิดเวที ค.1 โรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือเทพา 2 พ.ย.นี้
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า วันที่ 12 ตุลาคมนี้ กฟผ.จะจัดรับฟังความเห็นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) สำหรับโครงการสร้างท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว และโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ขนาด 870 เมกะวัตต์ จังหวัดกระบี่ ครั้งที่ 3 หรือ ค.3 ซึ่งหลังจากรับฟังเสร็จจะนำมารวบรวมทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่ออนุมัติ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้คงจะเสร็จสิ้นภายในกลางปี 2558 ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบได้ในปี 2562
“เราเป็นโครงการของรัฐ เมื่อเสนอเข้าไปพิจารณาในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมก็จะใช้เวลา 90 วันหลังจากมีการให้แก้ไขข้อเสนอ เมื่อยื่นไปอีกหากเป็นเอกชนจะไม่เกิน 30 วันแต่ของรัฐเองไม่มีกรอบเวลาก็ตอบยากแต่เราก็คาดว่าคงจะไม่เกินกลางปีหน้า ระหว่างนี้ กฟผ.ก็จะเตรียมร่างสัญญาจัดซื้อจัดจ้างหรือ TOR เพื่อเปิดให้เสนอการก่อสร้าง” นายสหรัฐกล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ตัวแทนชุมชน จ.กระบี่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่ และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้คุ้มครองและระงับโครงการดังกล่าวนั้นทาง กฟผ.ก็ต้องดูว่าศาลฯ จะมีคำสั่งออกมาอย่างไรซึ่งก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม โดย กฟผ.เองก็ยืนยันว่าเทคโนโลยีที่ใช้เป็นของญี่ปุ่นที่ปัจจุบันจัดว่าเป็นเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่ดีที่สุดในโลก
ขณะเดียวกัน ความกังวลของชาวบ้านเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการขนถ่ายถ่านหินก็ยืนยันว่าเป็นการขนถ่านหินในระบบปิด มีการปรับเรือขนถ่ายถ่านหินท้องแบนเป็นขนาดเพียง 1 หมื่นตันแล่นในน้ำลึกเพียง 3-4 เมตร จากเดิมจะใช้เรือที่สามารถเดินในน้ำลึกได้ถึง 10 เมตร เป็นต้น
นอกจากนี้ กฟผ.ยังเตรียมที่จะจัดเวทีกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยสาธารณะ (ค.1) (Public Scoping) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2 ยูนิต ยูนิตละ 1,000 เมกะวัตต์ (โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด) และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา
“การใช้ไฟฟ้าภาคใต้มีการเติบโตทุกปีเฉลี่ย 6% แต่การผลิตน้อยกว่าความต้องการที่ผ่านมาเราจึงต้องส่งไฟจากภาคกลางผ่านระบบส่งไปป้อนให้ ดังนั้นเพื่อความมั่นคงและป้องกันไฟตกดับ เราจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มและการเลือกถ่านหินสะอาดก็เพราะมีค่าไฟฟ้าที่ต่ำหากเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ และมีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงที่ถ่านหินมีสำรองมาก” นายสหรัฐกล่าว