xs
xsm
sm
md
lg

BMCL ยอมตรึงราคาแค่สิ้นปี ดีเดย์ 1 ม.ค.58 ขึ้นตามสัญญา “บิ๊กจิน” สั่งลุยแก้ปัญหารถไฟ ลดต้นทุนลอจิสติกส์เหลือ 13%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประจิน” เผยเจรจา BMCL ยอมตรึงค่าโดยสารรถไฟใต้ดิน MRT ได้แค่สิ้นปีนี้ โดยจะปรับขึ้นตามสัมปทาน 1 ม.ค.58 ผลเวิร์กชอปการขนส่งทางบก ลุยแก้ปัญหาคอขวดรถไฟ ลดเวลารถสับหลีก ปรับปรุงสภาพทางเสริมความแข็งแรง เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางจาก 2.5% เป็น 5% ตั้งเป้าลดต้นทุนลอจิสติกส์ลงจาก 15.2% เหลือ 13% และลดการใช้รถยนต์ พร้อมเร่ง รฟม.แก้ปัญหาก่อสร้าง เคลียร์พื้นที่ทับซ้อนกับ กทม.และทุกหน่วยงานให้จบใน พ.ย.57



พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล MRT ได้ทำหนังสือยืนยันยอมตรึงอัตราค่าโดยสารเดิมออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 จะปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารใหม่ตามสัญญาสัมปทานที่ได้กำหนดไว้ โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคม และผู้เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ

“คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เจรจาขอให้ทางบริษัทตรึงอัตราค่าโดยสารที่จะปรับขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ออกไปถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2557 แล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งบริษัทให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ตอนนี้กำลังดูข้อกฎหมายว่าจะต้องนำผลดังกล่าวเข้า ครม.หรือไม่เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติถือว่าการเจรจายุติแล้ว” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สำหรับงานด้านขนส่งทางบก วันนี้ (27 ก.ย.) เน้นเป้าหมายการเชื่อมต่อการเดินทางภายในประเทศให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ทั้งภายในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการเชื่อมต่อเครือข่ายจากเมืองใหญ่สู่ กทม.และดำเนินงานทุกโครงการต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน โดยได้ตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดว่าจะต้องลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์เมื่อเทียบกับจีดีพีลง 2% คือ จากปัจจุบันที่มีต้นทุนด้านลอจิสติกส์ต่อจีดีพีที่ 15.2% เหลือ 13% พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนการเดินทางระหว่างจังหวัดด้วยรถโดยสารเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลงจาก 59% ให้เหลือ 40% โดยจะต้องมีการจัดรถขนส่งมวลชน และรถสาธารณะให้เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และคุณภาพ

ด้านขนส่งทางรางนั้น ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มความเร็วของการเดินทางโดยรถไฟ โดยในส่วนของการขนส่งสินค้า จากปัจจุบันที่มีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 39-40 กม./ชม.เพิ่มเป็น 50-55-60 กม./ชม.ตามลำดับ โดยจะมีการซ่อมแซมเส้นทางรถไฟในปัจจุบันที่มีรางขนาด 1 เมตร ให้เป็นมาตรฐานมีความแข็งแรงมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนไม้หมอนเก่าเปลี่ยนเป็นหมอนคอนกรีตทั้งหมด สร้างมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อป้องกันเหตุรถไฟตกราง และก่อสร้างเส้นทางเพิ่มในจุดคับคั่ง แออัด เพื่อไม่ให้รถไฟไม่ต้องเสียเวลาในการจอดรถสับหลีก เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางจาก 2.5% เป็น 5% ส่วนการขนส่งผู้โดยสารนั้นจะเพิ่มความเร็วจาก 50 กม./ชม เป็น 60-80 กม./ชม.

“หากสามารถเพิ่มความเร็วในการเดินรถ ปรับลดระยะเวลาในการขนถ่ายระหว่างรถยนต์มาที่รถไฟได้ จากที่เคยส่งเช้าถึงปลายทางเย็น จะปรับเป็นส่งเช้าถึงปลายทางกลางวัน เป็นต้น เชื่อว่าสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง จะเพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 5% ได้ ส่วนผู้โดยสารรถไฟจะเพิ่มจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 75 ล้านคนต่อปี ได้ในปี 2559 ช่วยลดปริมาณรถยนต์ได้ พร้อมกันนี้ จะเพิ่มทางเลือกในการเดินทางด้วยระบบทางด่วนที่มีความสะดวกรวดเร็วอีกทางหนึ่งด้วย”

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ในปี 2558 ต่อเนื่องปี 2559 จะมีการลงทุนด้านระบบขนส่งทางบก 66,025.79 ล้านบาท โดยรวมระยะเวลา 10 ปี จะมีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 800,000 ล้านบาท ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ นั้น ได้รับทราบปัญหาในการดำเนินโครงการที่ล่าช้าแล้ว ซึ่งมีทั้งการสำรวจพื้นที่ การเวนคืน ความซ้ำซ้อนระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือกับหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะมีการแก้ปัญหาให้เรียบร้อยภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น