xs
xsm
sm
md
lg

สังคมผู้สูงอายุไทย ตลาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเคหะแห่งชาติดำเนินโครงการบ้านสบายเพื่อยายตา หรือโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุมีรายได้น้อยและผู้ยากไร้ ว่ากันง่ายๆ เป็นโครงการเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) เป็น CSR ที่ตรงประเด็นมากกว่าสร้างบ้านปลา บ้านกุ้งเป็นไหนๆ และโดนใจชาวบ้านมากกว่า เพราะกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุที่รายได้น้อยและผู้ยากไร้

การเคหะฯ เริ่มโครงการบ้านสบายเพื่อยายตาครั้งแรก ในเขตเทศบาล ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพชรบุรีดูเป็นจังหวัดมีเศรษฐกิจดี แต่คนชรายากจน รายได้น้อย กลับมีจำนวนไม่น้อย สัดส่วนผู้สูงอายุในเขตเทศบาล ต.บางตะบูน มีถึง 17% ของสัดส่วนประชากรก็ว่ามากแล้ว ล่าสุดบ้านสบายเพื่อยายตาในเขตเทศบาลถอนสมอ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี กลับมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากถึง 25% ของประชากรโดยรวม

ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงยืนยันว่าประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 10% ของประชากรเท่านั้น หากกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หรือมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 20% ของประชากร

ประชากรผู้สูงอายุไทย โดยทั่วไปจะพบว่าอยู่ในสภาพยากจนเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งแก่ตัวก็ยิ่งยากจน เพราะหมดเรี่ยวแรง ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้อื่นใด นอกจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับจากรัฐเป็นขั้นบันได เริ่มจากอายุ 60 ปีได้รับเบี้ยยังชีพ 600 บาท ไล่ขึ้นไปจนถึง 1,000 บาท คนสูงอายุยังชีพด้วยเงินก้อนนี้เพียงแหล่งเดียว ย่อมยากจน และครองชีพอย่างยากลำบาก ลำพังมีความยากจนเป็นทุนอยู่แล้ว หนักกว่านั้น ลูกๆ ซึ่งเลี้ยงตัวไม่ได้ยังส่งหลานมาให้เลี้ยงเพิ่มภาระอีกต่างหาก

ที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุรายได้น้อยจึงทรุดโทรมตามลำดับ จะซ่อมแซมเองก็ไร้เรี่ยวแรง ครั้นจะจ้างซ่อมก็ไม่มีทุนทรัพย์ บ้านเรือนจึงอยู่ในสภาพทรุดโทรมลงเรื่อยๆ บางหลังหมดสภาพคำว่าบ้าน เพราะหลังคาโหว่ ฝาบ้านพัง พื้นบ้านผุ เสาบ้านโย้เย้ และ ฯลฯ ซึ่งกลับเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุหนักยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของผู้สูงอายุทำให้ไม่อาจใช้ชีวิตในบ้านเรือนที่เคยอยู่ได้ดีนัก ส่วนใหญ่มีโรคภัยไข้เจ็บ จะเดินเหินไม่สะดวก เช่น บันไดเดิมก็อาจรู้สึกว่าสูงชัน ขึ้นลงลำบาก พื้นเรือนไม่เรียบเสมอทำให้ก้าวพลาดได้ นำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงตามมา บางครั้งอันตรายบาดเจ็บพิการหรือสูญเสียชีวิต

พลโท สุชาติ หนองบัว กรรมการการเคหะแห่งชาติและประธานอนุกรรมการ CSR ป้ายแดง ลงพื้นที่ผู้สูงอายุเทศบาลถอนสมอบอกว่า เป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน ในฐานะที่ตัวเองเป็นกรรมการการเคหะแห่งชาติและกรรมาธิการงบประมาณ จะพยายามจัดหางบประมาณมาสนับสนุนผู้สูงอายุเพิ่มเติม

“ที่จริงมีหลายหน่วยงานที่ดูแลผู้สูงอายุ แต่ไม่ค่อยประสานงานและบูรณาการการทำงานด้วยกัน ถ้าทำได้ตรงนี้ก็จะมีส่วนช่วยผู้สูงอายุได้ดีกว่านี้”

สำหรับการเคหะแห่งชาติ นอกจากการปรับปรุงบ้านผู้สูงอายุแล้ว ในกรณีที่บ้านนั้นสุดวิสัยจะปรับปรุงได้ก็ต้องรื้อและสร้างให้ใหม่แทน การเคหะฯ ยังกังวลถึงผู้สูงอายุที่ไม่มีที่อยู่อาศัยของตัวเอง หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่บุกรุก ซึ่งตามระเบียบไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ การเคหะฯ จึงวางแผนก่อสร้างบ้านกลาง ในพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาให้ โดยเริ่มต้นที่เทศบาลถอนสมอ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี เป็นแห่งแรก คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2558

“ชื่อว่าบ้านกลาง คือบ้านที่เปิดรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ได้สิทธิเข้ามาอยู่จนสิ้นชีวิต สิทธินี้ก็จะกลับคืนมาที่เทศบาลในการคัดกรองผู้สูงอายุรายใหม่เข้าไปอยู่แทน”

การเคหะแห่งชาติได้สั่งสมประสบการณ์การปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2554 ในเขตเทศบาล ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี จนกระทั่งบัดนี้รวมแล้ว 106 หลัง มีทั้งบ้านปรับปรุงเล็กน้อย ปรับปรุงปานกลาง กระทั่งสร้างบ้านใหม่ จนน่าจะเป็นหน่วยงานที่มีภูมิความรู้ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุมากที่สุดของประเทศไทย

สถาปนิกของการเคหะฯ ที่อยู่ในโครงการบ้านสบายเพื่อยายตา มีสภาพคล้ายๆ กับสถาปนิกชุมชน ที่นอกจากให้ความรู้แก่ชุมชนแล้วยังซึมซับสิ่งที่ชุมชนผู้สูงอายุต้องการแท้จริงด้วย ทำให้การออกแบบตอบสนองต่อการใช้งานของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

“งานช่างใครก็ออกแบบปรับปรุงได้ สิ่งที่ยากที่สุดคือทำอย่างที่ผู้สูงอายุต้องการ และบางครั้งต้องพิจารณาความเคยชินของผู้สูงอายุด้วย จึงเป็นงานที่ต้องออกแบบหลังต่อหลัง ซึ่งต่างจากที่อยู่อาศัยที่การเคหะฯ สร้างเพื่อขายทั่วไป” สถาปนิกในทีมงานบ้านสบายเพื่อยายตากล่าว

ประเด็นของการเคหะฯ คือโครงการดังกล่าวเป็นโครงการเพื่อสังคม (CSR) ล้วนๆ การเคหะฯ ก็ต้องหวนกลับไปคิดว่า โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์จะสามารถบรรจุที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุเข้าไปด้วยหรือไม่

หากสังเกตจะเห็นว่ามีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนได้บรรจุเรื่องราวของผู้สูงอายุในห้องพักอาศัยด้วย โดยจัดทำเพียงบางชั้นเพื่อหยั่งกระแสตอบรับจากตลาด โดยมองว่าลูกค้าบางราย บางครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่ มีผู้อยู่อาศัยหลายรุ่นรวมอยู่ด้วยกัน ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย รุ่นพ่อและแม่ และรุ่นลูกหลาน

น่าเสียดายที่การเคหะแห่งชาติที่คลุกคลีและเชี่ยวชาญเรื่องที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุมาก่อนกลับมองไม่เห็นเช่นนั้น แต่ถึงขณะนี้ก็ไม่สายที่จะคิดอ่านพิจารณาทบทวนเรื่องนี้ เพราะตลาดผู้สูงอายุนับวันยิ่งขยายตัวมาก หากผนวกเอาที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุเข้าไปในโครงการด้วย จะทำให้การเคหะฯ ขยายฐานลูกค้าได้อีกกว้างขวาง และน่าได้รับการยอมรับไม่น้อยทีเดียวจากฐานตลาดที่มีอยู่ดั้งเดิมอยู่แล้ว

เริ่มต้นจากโครงการเพื่อสังคม (CSR) หากสามารถปรับใช้ในโครงการเชิงพาณิชย์ได้ การเคหะแห่งชาติก็จะเป็นหน่วยงานพัฒนาที่อยู่อาศัยของรัฐที่ก้าวไปได้ไกลและทันสมัยยิ่งขึ้น โดยหลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ ที่นับวันแข่งขันกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนยากเย็นยิ่งขึ้นทุกที
กำลังโหลดความคิดเห็น