xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิงก์ชงคมนาคมเคาะแยกบริหาร ชี้ ร.ฟ.ท.ถ่วงจัดซื้อจัดจ้างล่าช้ากระทบบริการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แอร์พอร์ตลิงก์เตรียมชง “ประจิน” ขอแยกอำนาจบริหารทรัพย์สิน หนี้สิน ออกจาก ร.ฟ.ท. แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ เผย ร.ฟ.ท.รวบอำนาจทำจัดซื้อจัดจ้างล่าช้ากระทบการเดินรถ ระบุ ร.ฟ.ท.ยังคงถือหุ้น 100% “ธวัชชัย” เผยหารือ “สร้อยทิพย์-ออมสิน” แล้วเห็นด้วย แถมปิ๊งไอเดีย ขอเปลี่ยนซื้อรถใหม่ 7 ขบวนเป็นเช่าแทน ชี้ให้เอกชนลงทุนลดภาระภาครัฐกว่า 4.8 พันล้าน แถมคุมห้ามรถเสียได้ด้วย

พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีมติที่จะเสนอขอแยกการบริหารงานและการจัดเก็บรายได้ของบริษัทออกจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดย ร.ฟ.ท.ยังคงถือหุ้น 100% โดยขออำนาจในเรื่องงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง บุคลากร เพื่อทำให้แอร์พอร์ตลิงก์มีความคล่องตัวในการบริหารงาน การจัดซื้อจัดจ้างไม่ล่าช้าและเกิดปัญหากระทบต่อการเดินรถเหมือนในปัจจุบัน โดยหากมีกำไรจะนำส่ง ร.ฟ.ท.ตามปกติ แต่หากขาดทุน แอร์พอร์ตลิงก์ต้องรับผิดชอบเอง

โดยเรื่องนี้ได้หารือร่วมกับนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานบอร์ด ร.ฟ.ท. และนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งเห็นด้วย ดังนั้นในขณะนี้จึงเร่งทำแผนเพื่อนำเสนอตามขั้นตอน คือ บอร์ด ร.ฟ.ท. หากเห็นชอบจะเสนอไปยัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป

“ตอนนี้พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยมอบอำนาจให้แอร์พอร์ตลิงก์จัดซื้ออะไหล่เร่งด่วนได้เลย ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ และในอนาคตจะเกิดปัญหาซ้ำแบบเดิมอีก ดังนั้น หากแยกอำนาจการบริหารให้ชัดเจนจะเป็นผลดีต่อแอร์พอร์ตลิงก์ในระยะยาวมากกว่า” พล.อ.ธวัชชัยกล่าว

นอกจากนี้ บอร์ดได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีการหยุดเดินรถ โดยการซ่อมบำรุงบางส่วน (Partial Overhaul) ระหว่างรอการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) สามารถดำเนินการได้ตามแผนและมีรถสำหรับวิ่งให้บริการ 4 ขบวน และเพิ่มอีก 2 ขบวนในชั่วโมงเร่งด่วนรวมเป็น 6 ขบวน

พล.อ.ธวัชชัยกล่าวว่า แนวทางในการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์หลังจากนี้ เห็นว่างานส่วนใหญ่รวมถึงการเดินรถควรจะจ้างแรงงานภายนอก (Outsource) เข้ามาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ เช่น การจัดซื้อรถไฟฟ้าใหม่ 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ วงเงินรวม 4,855 ล้านบาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น อาจจะต้องเสนอกลับไปที่ ร.ฟ.ท.ใหม่เพื่อขอปรับเปลี่ยนวิธีจากซื้อเป็นเช่าแทนเพื่อลดภาระ โดยสามารถให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนจัดหาขบวนรถเข้ามาวิ่งให้บริการพร้อมรับผิดชอบค่าบำรุงรักษา ภายใต้สัญญาเช่าใช้รางที่รัฐเป็นเจ้าของ และหากไม่สามารถให้บริการเดินรถได้ตามสัญญาก็จะต้องถูกปรับ ซึ่งนอกจากประหยัดงบประมาณได้กว่า 4,800 ล้านบาทแล้ว ยังมีความมั่นใจในเรื่องการเดินรถด้วย เพราะรัฐเป็นเจ้าของรางและมีสัญญาควบคุมการให้บริการ

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดว่าควรให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย ทั้งโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง)-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง (แอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย) ระยะทาง 21.8 กม. วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท และส่วนต่อขยายจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา ไปถึงระยอง แต่คงจะต้องมีการหารือกับ ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคมก่อน โดยเบื้องต้นจะเดินตามแผนเดิมไปก่อน

“ตอนนี้พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยมอบอำนาจให้แอร์พอร์ตลิงก์จัดซื้ออะไหล่เร่งด่วนได้เลย ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ และในอนาคตจะเกิดปัญหาซ้ำแบบเดิมอีก ดังนั้น หากแยกอำนาจการบริหารให้ชัดเจนจะเป็นผลดีต่อแอร์พอร์ตลิงก์ในระยะยาวมากกว่า หลักการง่ายๆ ในการแก้ปัญหาแอร์พอร์ตลิงก์คือ ต้องทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการพึงพอใจ และมีความตรงต่อเวลา ส่วนกำไรไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ควรมีรายได้ที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและการลงทุนในด้านการให้บริการ”พล.อ.ธวัชชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เคยศึกษาแผนการแยกทรัพย์สินและหนี้สินแอร์พอร์ตลิงก์ออกจากกัน และทำแผนธุรกิจ (Business Plan) ประมาณการจำนวนผู้โดยสารไว้แล้ว ซึ่งเป็นแผนที่ดี ดังนั้นจะนำผลศึกษาดังกล่าวมาทบทวนปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและวางเป็นแผนอนาคต โดยแอร์พอร์ตลิงก์จะมีโครงข่ายเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรรภูมิ และอู่ตะเภา ในขณะที่จะต้องมีการใส่เงินทุนบริษัทที่เหลืออีก 1,860 ล้านบาทตามมติ ครม.เข้ามาเพิ่ม ซึ่งเชื่อว่าแอร์พอร์ตลิงก์จะเริ่มมีกำไรในปีที่ 5-6 หลังจากเดินตามแผนธุรกิจดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น