xs
xsm
sm
md
lg

คาดผลผลิตอ้อยปีนี้ไปไม่ถึง 100 ล้านตัน แถมราคาขั้นต้นส่อต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประเมินผลผลิตอ้อยฤดูหีบใหม่ที่ใกล้เข้ามาถึงช่วง พ.ย.นี้เบื้องต้นหมดสิทธิ์ลุ้นสร้างสถิติใหม่ คาดไปไม่ถึง 100 ล้านตัน จากปีที่แล้วทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไว้ที่ 103 ล้านตัน เหตุเจอแล้งยาว ฝนมาช่วงปลาย ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นปี 57/58 ส่อแววตกต่ำอีก ส่งซิกกระทรวงอุตสาหกรรมให้ทำใจยื่นขอกู้ ธ.ก.ส.ต่อ จับตารวมหนี้เก่าฐานะกองทุนฯ ส่อเป็นหนี้ 2.4 หมื่นล้านบาท

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า ชาวไร่และโรงงานได้ประเมินปริมาณอ้อยเบื้องต้นที่จะเข้าสู่ฤดูหีบปี 2557/58 ในช่วง พ.ย.ที่จะถึงนี้มีแนวโน้มสูงที่ปริมาณอ้อยในฤดูหีบนี้จะไม่ถึง 100 ล้านตัน จากฤดูการผลิตก่อนหน้าที่ทำไว้ 103 ล้านตัน เนื่องจากพบว่าหลายพื้นที่ทั้งภาคกลาง อีสานตอนบน และล่าง ประสบภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงมาตกในช่วงท้ายๆ ส่งผลให้อ้อยแล้งผลผลิตในภาคกลางและอีสานมีทิศทางลดลงจากปีก่อนในภาพรวม

นอกจากนี้ยังพบว่าการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 57/58 ที่จะต้องดำเนินการภายใน ต.ค.นี้ยังมีทิศทางลดลงตามราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่ขณะนี้มีราคาเฉลี่ยเพียง 15 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น โดยคาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูใหม่นี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 850-900 บาทต่อตัน ขณะที่ฤดูการผลิตปี 56/57 ราคาอ้อยขั้นต้นประกาศที่ 900 บาทต่อตันที่ระดับความหวาน 10 CCS ดังนั้นหากคำนวณต้นทุนที่ชาวไร่อ้อยมีอยู่เฉลี่ยกว่า 1,000 บาทต่อตันจึงเห็นว่ายังคงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องช่วยเหลือชาวไร่ในเรื่องการสนับสนุนแหล่งเงินกู้เพิ่มค่าอ้อย ซึ่งที่ผ่านมาจะเป็นการกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

“แนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตอ้อยในระยะสั้น ส่วนการดำเนินงานเรื่องอื่นๆ ยังคงต้องอาศัยเวลาในการหาข้อยุติและช่วงจังหวะที่เหมาะสม เนื่องจากยอมรับว่าช่วงนี้ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำการดำเนินการใดๆ จะต้องระมัดระวัง ซึ่งเห็นว่าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงาน 70:30 ดีอยู่แล้วไม่ต้องเปลี่ยน แต่ควรจะมองในเรื่องของการนำผลพลอยได้มาคำนวณเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย เช่น เอทานอล การนำเศษอ้อยไปทำโรงไฟฟ้าชีวมวล” นายธีระชัยกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวยอมรับว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 57/58 ที่จะประกาศในช่วง ต.ค.นี้มีแนวโน้มสูงที่จะต่ำกว่า 900 บาทต่อตัน ซึ่งเข้าใจว่าที่สุดชาวไร่อ้อยก็คงจะเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุน ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเช่นที่ผ่านๆ มา ซึ่งฤดูการผลิตปี 56/57 จากราคาอ้อย 900 บาทต่อตันที่ค่าความหวาน 10 CCS ก็เพิ่มให้อีกตันละ 160 บาท โดย ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ผ่านกองทุนฯ วงเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันกองทุนอ้อยฯ มีรายได้หลักจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัมหรือคิดเป็นรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งรายได้นี้จะนำมาทยอยชำระและตามแผนวงเงินกู้ 1.6 หมื่นล้านบาทจะชำระหมดช่วง ต.ค. 58 ดังนั้น หากจะต้องกู้ใหม่ประเมินขั้นต่ำสุดที่ 160 บาทต่อตัน วงเงินก็จะอยู่ประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทขึ้นอยู่กับปริมาณอ้อย โดยเงินนี้คาดว่าจะเข้ามาช่วง ก.พ. 58 เมื่อรวมกับหนี้เก่าช่วง ก.พ.ที่คาดว่าจะเหลือ 8,000 ล้านบาทภาระหนี้กองทุนฯ กับการกู้ใหม่จะสูงถึง 24,000 ล้านบาท

“การกู้ ธ.ก.ส.เพื่อเพิ่มค่าอ้อยตั้งแต่ปี 2551 จะเป็นลักษณะการใช้หนี้เก่าหมด แต่หากต้องกู้ในฤดูกาลนี้ก็จะเท่ากับเป็นการกู้ใหม่ทั้งที่เงินเก่ายังใช้หนี้ไม่หมดวงเงินหนี้ก็จะสูงขึ้นการชำระหนี้ก็จะยาวออกไป และถ้าปีต่อๆ ไปเป็นปัญหาเช่นนี้อีกจะทำอย่างไร การเพิ่มค่าอ้อยเช่นนี้เป็นเหมือนยาเสพติดไปแล้วแก้ไขยากมาก และถ้าเป็นอย่างนี้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบก็จะทำยากยิ่งขึ้น ดังนั้นแนวทางคงต้องทำเป็นเรื่องๆ ไป” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น