กระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถเสนอครม.เพิ่มราคาอ้อยตามที่ชาวไร่ร้องขอให้ทันกรอบ 6 พ.ค.นี้ได้ทันโดยแจงมีขั้นตอนมากต้องรอประชุมบอร์ดกองทุนอ้อยฯ 6 พ.ค.นี้ลั่นพร้อมเสนอได้สัปดาห์ถัดไปแน่ ชาวไร่อ้อยยอมรับได้พร้อมจองกฐินเสนอปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาลทราย
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อย ภาคอีสาน เปิดเผยว่า วันที่ 6 พ.ค.นี้กระทรวงอุตสาหกรรมคงไม่สามารถนำเสนอแนวทางการเพิ่มราคาอ้อยขั้นต่ำปี 56/57 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ทันซึ่งจากการติดตามยอมรับว่าขั้นตอนค่อนข้างต้องใช้เวลาและกระทรวงอุตสาหกรรมได้พยายามเต็มที่แล้ว โดยยืนยันที่จะนำเสนอครม.ให้ทันในสัปดาห์ถัดไป
“จากการติดตามแนวทางการเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นที่ชาวไร่ได้รับเพียง 900บาทต่อตันและทางคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)รับปากที่จะเพิ่มให้อีกขั้นต่ำ 160 บาทต่อตันโดยจะนำเสนอครม.เพื่ออนุมัติให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)ปล่อยกู้ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ช่วงสุดสัปดาห์กระทรวงฯได้ทำหนังสือไปขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฏหมายเช่น กระทรวงพาณิชย์ เกษตร แล้วและเตรียมนัดประชุมกองทุนน้ำตาลวันที่ 6 พ.ค.นี้เราก็เห็นว่าราชการทำงานจริงก็จะให้เวลาเสนอครม.สัปดาห์ถัดไปช่วง 13 หรือ 14 พ.ค.”นายธีระชัยกล่าว
ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาราคาอ้อยโดยการกู้นั้นแม้ว่าหลายฝ่ายอาจมองว่าไม่ใช่คำตอบแต่ระยะสั้นนี้มีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งจากนี้ไปชาวไร่อ้อยโดย 4 สถาบัน และสมาคมโรงงานน้ำตาลทรายตกลงที่จะหารือกันอย่างใกล้ชิดที่จะนำข้อเสนอการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้ฝ่ายราชการนำไปปฏิบัติเนื่องจากเห็นว่าไทยมีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงโดยเฉพาะพ.ร.บ.อ้อยฯใช้มาตั้งแต่ปี 2527 แล้วขณะเดียวกันการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ปี 2558 ก็จะผลักดันให้ต้องเตรียมพร้อมรองรับเนื่องจากเพื่อนบ้านมีราคาน้ำตาลทรายแพงกว่าไทยค่อนข้างมาก
“ ชาวไร่อ้อยยืนยันว่ากองทุนอ้อยและน้ำตาลมีความจำเป็นที่จะต้องมีไว้เพื่อดูแลเสถียรภาพราคาน้ำตาลให้กับผู้บริโภค และเห็นว่าราคาขายปลีกน้ำตาลในไทยนั้นถูกตรึงมานานแล้วไม่ได้สะท้อนกลไกตลาดโลกแต่อย่างใด จึงเห็นว่าการปรับโครงสร้างอุตฯนี้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้ทันท่วงทีไม่เช่นนั้นน้ำตาลไทยจะไหลออกเพราะมีราคาต่ำกว่า”นายธีระชัยกล่าว