xs
xsm
sm
md
lg

ลอยตัวน้ำตาลไม่ทันสิ้นปี รง.-ชาวไร่เร่งสรุปแผน ส.ค.ชง “คสช.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาลทำใจ! ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะแผนลอยตัวราคาน้ำตาลไม่ทันฤดูหีบปีนี้หลังเหลือเวลาแค่ 3 เดือนแต่แผนยังไม่สรุปเป็นหนึ่งเดียว จี้ “กอน.” ประชุมหวังจัดเวทีระดมความเห็นสรุปแผนเสนอ คสช.ให้ทัน ส.ค.นี้

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานสถาบันชมรมชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า แผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ทั้งโรงงานและชาวไร่อ้อยคาดหวังว่าจะสามารถดำเนินการได้โดยเฉพาะในเรื่องของแผนลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ปัจจุบันเป็นราคาควบคุมในช่วงฤดูการผลิตปี 57/58 หรือประมาณ ต.ค.นี้คงไม่สามารถดำเนินการได้ทันแล้วเนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ได้กำหนดแผนใด ๆ รองรับ โดยชาวไร่และโรงงานกำลังประสานที่จะให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งสรุปเพื่อนำเสนอแผนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในสิงหาคมนี้

“ขณะนี้ชาวไร่อ้อยทั้ง 4 องค์กร ได้แก่ ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นและจะได้ประสานกับโรงงานเพื่อที่จะให้มีการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการเปิดเวทีสัมมนาเพื่อสรุปภาพให้ชัดเจนตรงกันก่อนที่จะเสนอ คสช. ซึ่งทุกอย่างควรจะเร่งให้จบภายใน ส.ค. ซึ่งทราบว่า คสช.เองก็เร่งกระทรวงอุตสาหกรรมมาเช่นกัน” นายธีระชัยกล่าว

ทั้งนี้ ไทยไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงแนวทางการเปิดเสรีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไปได้ในที่สุด เพราะปี 2558 ไทยก็จะต้องก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีหลายเรื่องที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์การค้าที่จะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะราคาน้ำตาลทรายในประเทศถูกควบคุมไว้ทำให้มีราคาต่ำกว่าเพื่อนบ้าน การปรับโครงสร้างรองรับจึงต้องมาดูว่าจะลอยตัวอย่างไร โดยชาวไร่ต้องการให้คงกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไว้เพื่อดูแลเสถียรภาพราคา ซึ่งภาพรวมคงต้องรีบให้ชัดเจนโดยเร็ว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า เหลือเวลาอีกแค่ 3 เดือนก็จะเข้าสู่ฤดูกาลหีบอ้อยฤดูกาลผลิตใหม่แล้ว ดังนั้นแนวทางปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่เคยเสนอไว้ที่จะให้ทันในฤดูการผลิตนี้คงเป็นไปได้ยาก แต่ที่สุดแนวทางดังกล่าวก็จะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จเพื่อรองรับการเปิด AEC ในปี 2558

“โรงงานทำหนังสือเรื่องนี้ไปนานแล้ว แต่ในเมื่อหน่วยงานรัฐเองยังไม่ได้ขับเคลื่อนและสรุปแนวทางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติก็ทำให้เวลาที่ผ่านมาเราเสียโอกาสที่จะลองใช้ในฤดูกาลผลิตนี้ไป เพราะหากมีอะไรหรือจุดใดผิดพลาดก็ยังปรับกันได้ง่ายกว่า” นายสิริวุทธิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า แนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายคงจะยึดกรอบผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI นำมาปรับเข้ากับแนวทางของชาวไร่อ้อยและโรงงานที่ยังมีประเด็นเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แต่ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมไม่มีความพยายามที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อสรุปแนวทางเสนอต่อภาครัฐทั้งที่ในสมัยรัฐบาลทักษิณก็สั่งให้เร่งศึกษา และล่าสุดแม้แต่ คสช.เองก็สั่งให้เร่งสรุปเช่นกัน

สำหรับประเด็นที่ต้องสรุปที่สำคัญคือ จะลอยตัวราคาอย่างไร ซึ่ง TDRI เสนอให้เลิกควบคุมราคาแต่ควบคุมปริมาณแทน ซึ่งก็ยังมีข้อถกเถียงว่าจะทำอย่างไร โดยจะยังให้คงการจัดสรรน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) และโควตาส่งออกเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่ง TDRI เสนอให้กองทุนน้ำตาลทำหน้าที่สำรองน้ำตาลทรายไว้เพื่อป้องกันขาดแคลน การคงเงิน 5 บาทต่อกิโลกรัมที่เก็บเข้ากองทุนฯ หรือไม่ อย่างไร ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้จะต้องสรุปให้ไปในทางเดียวกันก่อนเพื่อเสนอ คสช.
กำลังโหลดความคิดเห็น