“ปลัดคมนาคม” เผยเตรียมสรุป 5 โครงการระบบราง ชง “ประจิน” เห็นชอบ เพื่อเสนอ ครม.ขออนุมัติประกวดราคาภายในปีนี้ วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.06 แสนล้าน ทั้งรถไฟฟ้าสีชมพู, สีเหลือง และรถไฟสายสีแดง Missing Link และแอร์พอร์ตลิงก์เชื่อมดอนเมือง ส่วนรถไฟทางคู่ จิระ-ขอนแก่นผ่าน EIA พร้อมประมูล จี้ ร.ฟ.ท.เร่งทำแผนรายละเอียดและกรอบเวลาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เตรียมชงคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานและ Work Shop ร่วม รมว.คมนาคม
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วันนี้ (16 ก.ย.) ว่า ได้ทำความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิบัติงานและเตรียมพร้อมใช้ข้อมูลสำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) ร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งในส่วนของ ร.ฟ.ท.จะต้องรับผิดชอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 ในการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ 6 สายทาง ขนาดราง 1 เมตร ระยะทาง 887 กิโลเมตร ซึ่ง ร.ฟ.ท.รวบรวมรายละเอียดการทำงานทั้งหมดรวมถึงกรอบเวลาต้องมีกรอบเวลาในการทำงานให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานที่ คสช.ตั้งไว้
โดยขณะนี้โครงการระบบรางที่มีความพร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติประกวดราคาแล้วรวม 5 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 2.06 แสนล้านบาท โดยในส่วนของ ร.ฟ.ท. ประกอบด้วย 1. โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทาง จิระ-ขอนแก่น 185 กิโลเมตร วงเงิน 26,007 ล้านบาท โดย ร.ฟ.ท.ได้เสนอมาที่กระทรวงคมนาคมเพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติประกวดราคาต่อไป 2. รถไฟสายสีแดง Missing Link ขนาดรางกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร และช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก ระยะทาง 19.5 กิโลเมตร วงเงินรวม 3.9 หมื่นล้านบาท 3. โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง)-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง (แอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย) ระยะทาง 21.8 กม. วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท
ส่วนรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น ทาง สนข.ได้สรุปเสนอมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว 2 สาย คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กิโลเมตร วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท
สำหรับรถไฟทางคู่ที่เหลืออีก 4 เส้นทาง คือ มาบกะเบา-จิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 29,855 ล้านบาท, ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท, นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 20,038 ล้านบา อยู่ในขั้นตอนของผู้ชำนาญการ เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชุดใหญ่, ประจวบ-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,293 ล้านบาท รออนุมัติ สิ่งแวดล้อม ส่วน หัวหิน-ประจวบฯ ระยะทาง 90 กิโลเมตร วงเงิน 9,437 ล้านบาท ได้รับงบประมาณสำหรับการออกแบบรายละเอียดเพื่อเติมเต็มโครงข่ายทั้ง 6 เส้นทางให้ต่อเชื่อมกัน
นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า นอกจากโครงการก่อสร้างต่างๆ แล้ว ร.ฟ.ท.ยังต้องเร่งสรุปแผนฟื้นฟู ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ให้ ร.ฟ.ท.ไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมให้ชัดเจน ในแต่ละเรื่อง เช่น หนี้สิน บุคลากร แผนงานโครงการ แผนงานภายใน และการแยกอำนาจบริหารและการแบ่งทรัพย์สินระหว่าง ร.ฟ.ท. กับแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งต้องเร่งนำเสนอกลับมาเพื่อเสนอต่อซูเปอร์บอร์ดต่อไป รวมถึงเรื่องบำเหน็จดำรงชีพที่รัฐบาลมีมติให้ผู้ที่เกษียณอายุได้รับแต่ไม่เกิน 2 แสนบาทในสัดส่วน 50% จากที่เป็นบำเหน็จตกทอด ซึ่งในส่วนของ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างออกข้อบังคับและรอ กนร.เห็นชอบ เบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.ต้องไปดูว่ามีงบประมาณพร้อมแค่ไหน
“ร.ฟ.ท.มีการบ้านที่ต้องทำมาก ซึ่งเรื่องสำคัญที่ให้ไปวางแผนคือ การสร้างบุคลากรโดยเฉพาะด้านวิชาชีพ หรือวิศวกร เพื่อรองรับการเติบโตและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางตามนโยบายซึ่งต้องการบุคลากรเฉพาะทางจำนวนมาก ที่ผ่านมาอัตรากำลังรถไฟลดลงเพราะติดมติ ครม.ปี 2543 ที่ห้ามรับพนักงานเพิ่มทำให้ต้องจ้างแรงงานภายนอก (Outrsource) จำนวนมาก” นางสร้อยทิพย์กล่าว