สนย.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. ปรับตัวสูงสุดในรอบ 15 เดือน แต่คนยังห่วงค่าครองชีพสูง หนี้ครัวเรือนเพิ่ม และสินค้าเกษตรตกต่ำ เชื่อแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องหลังคนเชื่อมั่น คสช. พร้อมศึกษาแนวโน้มการใช้เงินหยวนหลังประเมินปีหน้าติด 1 ใน 3 ของเงินสกุลหลักของโลก แนะผู้ประกอบการไทยศึกษาใช้ทำการค้า ลงทุน
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. 2557 ที่สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 3,343 รายทุกจังหวัดทั่วประเทศ เท่ากับ 41.4 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาที่เท่ากับ 38.4 เป็นการปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 15 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคตเท่ากับ 45.4 เพิ่มขึ้นจาก 43.7
ทั้งนี้ แม้ดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต่ำกว่าค่าปกติที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังมีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่ภาพรวมของสถานการณ์บ้านเมืองมีความสงบมากขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ภาวะหนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้น รายได้ของเกษตรกรลดลง โดยต้นทุนการทำนาสูงขึ้น และยางพารา ปาล์มน้ำมันมีราคาตกต่ำ รวมถึงผลไม้ตามฤดูกาล
“หากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นไปในระยะยาวจะยิ่งทำให้ภาวะหนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง และยิ่งเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่แน่นอน ก็ยิ่งมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทย”
นางอัมพวันกล่าวว่า สำหรับความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนมีความคาดหวังการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่ออกมามีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การสำรวจการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ในอีก 6 เดือนข้างหน้าพบว่าปรับตัวลดลง เพราะประชาชนมีความกังวลในเรื่องค่าครองชีพ และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อลดลง
นางอัมพวันกล่าวว่า ได้มีการศึกษาการผลักดันให้มีการใช้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลกของรัฐบาลจีน โดยพบว่า เมื่อเดือน มิ.ย. 2557 จีนได้ตกลงการชำระเงินด้วยเงินหยวนกับอังกฤษ ซื้อขายพลังงานกับรัสเซียด้วยเงินหยวนและรูเบิล และเดือน ก.ค. 2557 ได้ตกลงกับ 5 ชาติในกลุ่ม BRICS ตั้งสถาบันการเงิน 2 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการพัฒนา (NDB) และกองทุนสำรองฉุกเฉินเพื่อใช้ในวิกฤต (CRA) และยังได้ร่วมกับ 22 ประเทศเอเชียจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) ซึ่งสะท้อนว่าความนิยมเงินหยวนเริ่มมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันเงินหยวนได้รับความนิยมในโลก เพิ่มจากอันดับที่ 35 ในปี 2553 เป็นอันดับที่ 13 ในปี 2556 และเป็นอันดับที่ 7 ในปัจจุบัน โดย HSBC ธนาคารชั้นนำของโลกได้ประเมินว่าในปี 2558 เงินหยวนจะติด 1 ใน 3 ของเงินสกุลหลักของโลก
“ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมรองรับการใช้เงินหยวน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลกในอนาคต โดยการศึกษาผลดี ผลเสียของการใช้เงินหยวนเป็นทางเลือกในการทำธุรกรรมการค้าหรือการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และควรติดตามปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายจีน สภาพคล่องของเงินหยวน การให้บริการของสถาบันการเงิน ต้นทุน และความคุ้มค่า” นางอัมพวันกล่าว