“สนย.” เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ส่งออก ประเมินไตรมาส 3 ฟื้นแรง หลายสินค้าส่งออกได้เพิ่มขึ้น ตลาดหลักทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ฟื้นตัว จับตาปัญหาอิรักกระทบราคาน้ำมัน แต่ยังมั่นใจเป้าปีนี้ 3.5% ทำได้แน่ ด้านการนำเข้า คาดครึ่งปีหลังฟื้นตัวตาม
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ส่งออกจำนวน 205 ราย เกี่ยวกับภาวะธุรกิจส่งออกในไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.) พบว่าการส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผลการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการส่งออกคาดว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 3 จะดีขึ้น 48.3% ไม่เปลี่ยนแปลง 44.2% และลดลง 7.5% ส่งผลให้ค่าดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกมีค่าเท่ากับ 70.4 ซึ่งสูงกว่าค่าปกติที่ 50 แสดงให้เห็นว่านักธุรกิจมองว่าการส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ยางพารา และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
“ผลสำรวจสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่คาดว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งตามสัญญาณเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่เริ่มดีขึ้น ทั้งสหภาพยุโรปที่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และสหรัฐฯ ที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์ความหนาวเย็นยาวนานจากช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น”
นางอัมพวันกล่าวว่า แม้ทิศทางการส่งออกจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ทั้งภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งสถานการณ์ในอิรักที่อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก อันจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงเชื่อมั่นว่าการส่งออกของไทยจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นมากตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป และทำให้มูลค่าการส่งออกของประเทศขยายตัวได้ตามเป้าหมายในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 3.5% อย่างแน่นอน
นางอัมพวันกล่าวว่า สนย.ยังได้มีการวิเคราะห์การนำเข้า โดยในช่วง 5 เดือนของปี 2557 (ม.ค.-พ.ค.) การนำเข้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐ มีมูลค่า 94,418.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14% ในรูปเงินบาทมีมูลค่า 3,078,850.6 ล้านบาท ลดลง 6% เป็นการลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ สินแร่โลหะ ปุ๋ย เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้การนำเข้าลดลง เนื่องจากราคานำเข้าสินค้าหลักหลายรายการปรับลดลงตามราคาตลาดโลก ทำให้ราคาสินค้านำเข้าลดลง เช่น ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย และธัญพืช และยังเกิดจากการชะลอการลงทุนในประเทศและการอ่อนของค่าเงินบาท ทำให้มีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อมาผลิตสินค้าน้อยลง แต่คาดว่าการนำเข้าจะมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการส่งออกของไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกทำให้มูลค่านำเข้าในช่วงครึ่งปีหลังสูงขึ้น