xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจคาดไตรมาส 3 เศรษฐกิจฟื้นตัว แนะคุมเงินบาท ค่าครองชีพ ลดต้นทุนการผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนย.เผยนักธุรกิจคาดไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยดีขึ้น หลังเห็นทิศทางการบริหารประเทศของ คสช. ชัดเจน ระบุทุกสาขาธุรกิจยืนยันว่าดีขึ้น ยกเว้นเกษตรกรรมที่มีปัญหา แนะคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ ดูแลค่าครองชีพ ลดต้นทุนการผลิตต่อเนื่อง

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจภาวะธุรกิจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,790 ราย โดยผลการสำรวจพบว่าดัชนีภาวะธุรกิจไตรมาส 2 มีค่าเท่ากับ 43 สูงกว่าไตรมาสแรกที่มีค่าเท่ากับ 38 ซึ่งแม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังต่ำกว่าค่า 50 ซึ่งเป็นค่าปกติ เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจโลก และค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เห็นได้จากดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่มีค่าเท่ากับ 61.4 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าเท่ากับ 49.2 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไตรมาสหน้ามีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ มีการคืนเงินในโครงการจำนำข้าว เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และมีแผนในการบริหารประเทศที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

“นักธุรกิจมีความคาดหวังว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้น หลังจากที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ และเริ่มมีการปฏิรูปในทุกๆ ด้านให้ดีขึ้น” นางอัมพวันกล่าว

นางอัมพวันกล่าวว่า ได้มีการสำรวจภาวะธุรกิจรายสาขา พบว่าผู้ประกอบการเกือบทุกสาขาเห็นว่าภาวะธุรกิจมีทิศทางดีขึ้น ยกเว้นสาขาเกษตรกรรม เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนทิ้งช่วง ปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง วัตถุดิบราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะกุ้งที่มีปัญหาโรคระบาด ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการเลี้ยง และการขยายบ่อเลี้ยงกุ้ง และยังมีปัญหาการแข่งขันที่สูงขึ้น ขณะที่ภาคบริการยังทรงตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง แต่คาดว่าจะดีขึ้นหลังจากที่นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาเพิ่มขึ้น

สำหรับข้อเสนอแนะที่ภาคธุรกิจต้องการ ขอให้ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ ดูแลค่าครองชีพและค่าสาธารณูปโภคไม่ให้สูงจนเกินไป ลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น