ทางหลวงชนบทเตรียมผุดถนนนำร่องปี 58 ใช้ยางพาราผสมสัดส่วน 5% ในชั้นผิวแอสฟัลต์คอนกรีต (พาราแอสฟัสต์) ที่หนา 5-10 ซม. จากเดิมที่ใช้แค่ฉาบผิวเพิ่มความหนืดช่วงทางโค้งหรือขึ้นลงเขาเท่านั้น ระบุคุณสมบัติยืดหยุ่นสูง ยืดอายุใช้งานได้ 1 ปี แต่ต้นทุนสูงกว่ายางมะตอย 20% ทาง ศก.ไม่คุ้มจึงต้องเลือกใช้กับถนนที่มีปริมาณรถมากๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหายางพารา
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ปัญหายางพารา โดยนำมาใช้ในงานก่อสร้างถนนนั้น ที่ผ่านมากรมทางหลวงชนบทได้นำยางพาราธรรมชาติมาใช้เป็นส่วนผสมในขั้นตอนของการฉาบผิวถนนหรือพาราสเลอรีซิล เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มแรงเสียดทาน ถนนมีความหนืด จึงเหมาะต่อบริเวณทางโค้ง หรือทางขึ้นลงเขา ซึ่งแต่ละปีจะมีการซ่อมบำรุงฉาบผิวในลักษณะดังกล่าวประมาณ 200-300 ล้านบาท แต่มีสัดส่วนปริมาณยางพาราที่ใช้ไม่มากนัก ประมาณ 0.049 กก.ต่อตารางเมตรเท่านั้น
ซี่งขณะนี้ ทช.อยู่ระหว่างการวิจัยทดสอบในการผสมยางธรรมชาติเพื่อก่อสร้างถนนในชั้นผิวแอสฟัลต์คอนกรีต หรือพาราแอสฟัสต์ ในสัดส่วนประมาณ 5% ซึ่งจะเป็นชั้นถนนที่หนาประมาณ 5-10 ซม. ซึ่งจะใช้ยางธรรมชาติในสัดส่วน 0.48 กก.ต่อตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า จากการฉาบผิว ซึ่งจะสรุปผลการทดสอบในเดือนกันยายนนี้ โดยเบื้องต้นพบว่าการผสมยางธรรมชาติกับแอสฟัลต์คอนกรีตดังกล่าวจะมีความยืดหยุ่นกว่าชั้นผิวแอสฟัลต์ธรรมดา มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ปี จากปกติ 3-5 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณจราจรด้วย แต่ที่เป็นข้อด้อยคือ จะมีต้นทุนสูงกว่าชั้นผิวแอสฟัลต์กว่า 20% ซึ่งสูงเกินไปในด้านเศรษฐกิจถือว่าไม่คุ้ม ในขณะที่ใช้ยางธรรมชาติเพียง 5% เท่านั้น
ทั้งนี้ หลังสรุปผลศึกษาในเดือนกันยายนแล้ว จะต้องกำหนดรายละเอียดของสเปกและราคาและออกแบบตามหลักวิศวกรรม และเลือกถนนที่จะนำมาทดสอบ โดยจะเป็นถนนที่มีปริมาณจราจรสูงเพิ่มความคุ้มค่า เป็นโครงการนำร่องในปี 2558 อย่างไรก็ตาม การใช้ยางธรรมชาติกับงานก่อสร้างถนนนั้นไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราได้แน่นอน เนื่องจากใช้ปริมาณยางไม่มากนักและมีเรื่องต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมาเกี่ยวข้องจึงใช้ได้กับในบางเส้นทางเท่านั้น
ส่วนกรมทางหลวง (ทล.) ได้มีการทดสอบแอสฟัลต์คอนกรีตผสมยางธรรมชาติ (Natural Rubber Modified Asphalt Concrete) ที่ จ.นครนายก ทางหลวงหมายเลข 305 ช่วง กม. 52+750 – 53+750 RT. เปรียบเทียบถนนแอสฟัลต์คอนกรีตปกติระยะทาง 1 กิโลเมตร ช่วง กม. 51+750 – 52+750 RT. ซึ่งพบว่าแอสฟัลต์คอนกรีตผสมยางพารามีความฝืดสามารถต้านทานการลื่นไถลได้ดีกว่าและมีความสามารถต้านทานน้ำหนักบรรทุกจากการจราจรได้ดีกว่าแอสฟัลต์คอนกรีตปกติ
ดังนั้นแอสฟัลต์คอนกรีตผสมยางธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการกำหนดผิวทางให้เหมาะสมกับปริมาณการจราจร สภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศ และจะช่วยเพิ่มอุปสงค์การใช้ยางธรรมชาติ (ยางพารา) ได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการแก้ปัญหายางพาราของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ระบุว่าใช้ยางพาราทำถนนได้น้อยแต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำ