คมนาคมดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นประตูการขนส่งฝั่งทะเลอันดามัน โดยจะนำระบบรถไฟมาเชื่อมกับท่าเรือฝั่งอ่าวไทย แก้ปัญหาช่องแคบมะละกาคับคั่งและยังมีศักยภาพเป็นสปริง บอร์ดกระจายสินค้าไปตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป หากคสช.ไฟเขียวลุยก่อสร้างได้ในปี 59
นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยภายหลังการบรรยายเรื่อง "โครงสร้างพื้นฐาน: โลจิสติกส์ไทย เชื่อมโยงอาเซียน" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2556-2560) ได้บรรจุแผนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อเป็นประตูการขนส่งด้านทะเลอันดาสู่ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป และยังช่วงลดปัญหาความคับคั่งของช่องแคบมะละกาด้วย
ซึ่งการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารานี้จะมีการนำระบบรางมาเชื่อมโยงกับท่าเรือฝั่งอ่าวไทย (ท่าเรือสงขลา) นอกจากร่นระยะทางการขนส่งแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นสปริง บอร์ดในการขนส่งกระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียนด้วย
ซึ่งปัจจุบันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ได้ผ่านความเห็นชอบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)มานาน และที่ผ่านมา ชุมชนในพื้นที่กังวลว่าจะมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาตั้งโรงงานใกล้ท่าเทียบเรือ จึงไม่เห็นด้วย ซึ่งเรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ เนื่องจากโมเดลการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะเหมือนกับท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะไม่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่จะเป็นอุตสาหกรรมเบา เช่น โรงงานแปรรูปยางพารา ประมงและโรงงานแปรรูปสินค้าประมง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากโครงการท่ารือปากบารา ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2559 และจะเปิดใช้บริการได้ภายในปี 2564 ใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยเฟสแรกจะรองรับการขนส่งทางเรือได้ปีละ 2 ล้านตันใกล้เคียงท่าเรือคลองเตย