ระนอง - หอการค้าจังหวัดระนอง กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาท่าเรือน้ำลึก พร้อมทั้งขยายเขตพื้นที่ปลอดภาษี เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการค้าการลงทุน เตรียมต้อนรับการขนถ่ายสินค้าจากต่างแดนเที่ยวแรกกรกฎาคมนี้
วันนี้ (5 พ.ค.) นางนฤมล ขรภูมิ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยถึงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกของจังหวัดระนอง ว่า ขณะนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาท่าเรือแห่งนี้ ซึ่งภาคเอกชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี และในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่จะเข้ามาขนถ่ายสินค้าเปิดการเดินเรือเป็นเที่ยวแรก ซึ่งเป็นสินค้าประเภทหินแกรนิต โดยจะส่งไปประเทศอินเดีย ซึ่งได้เจรจาทางการค้า และเปิดสายเดินเรือกับท่าเรือระนองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าในอนาคตท่าเรือน้ำลึกของระนองแห่งนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากถูกทิ้งร้างไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์มาเกือบ 10 ปี
นอกจากนี้ ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย ยังมีโครงการที่จะขยายเขตพื้นที่ปลอดอากร และภาษี เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการค้าการลงทุนในเรื่องตู้สินค้าประเภทตู้เย็น ที่จะรองรับสินค้าประมงจากเมืองมะริด สหภาพพม่า ซึ่งเป็นสินค้าอาหารทะเลสดที่มีคุณภาพดี แต่ทุกวันนี้ประสบปัญหาเนื่องจากต้องขนส่งทางเรือประมง ทำให้อาหารเน่าเสีย คุณภาพลดลง หากมีตู้เย็นรองรับขนส่งทางเรือจากมะริดโดยตรง และมาส่งที่ท่าเรือระนอง เพื่อนำมาแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งจะได้วัตถุดิบที่สด และมีคุณภาพมากขึ้น ก่อนจะส่งออกผ่านท่าเรือระนอง ไปยังประเทศในแถบเอเชีย และยุโรปต่อไป
สำหรับจุดเด่นของท่าเรือระนอง เป็นจุดใกล้ที่สุดในการขนส่งสินค้าจากภาคกลางไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู ผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลา และระยะทางในการเดินเรือสินค้าไปยังประเทศในแถบฝั่งอันดามัน หรือมหาสมุทรอินเดียลงประมาณ 3 เท่าตัว หรือประมาณเพียง 5-10 วัน เมื่อเทียบกับเส้นทางที่ผู้ประกอบการใช้ในปัจจุบัน โดยผ่านท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือแหลมฉบัง ที่ต้องอ้อมผ่านสิงคโปร์ใช้เวลาประมาณ 20-30 วัน แต่ที่ผ่านมา มีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้ท่าเรือระนองไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และมีผู้ใช้บริการน้อย เช่น ปัญหาด้านโครงข่ายการขนส่งต่อเนื่อง ทำให้ต้องใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าสูง และไม่มีปัจจัยดึงดูดเพียงพอที่จะให้ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกหันมาใช้บริการ