xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” เปิดให้ทูตอินเดียพบ ถกเชื่อมขนส่ง ท่าเรือทวาย FTA ขอยึด ปชต.หยุดเสียโอกาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม(แฟ้มภาพ)
นายกฯ ดอดเข้าทำงาน สป.กห. ห้ามสื่อถ่ายภาพ ก่อนทูตใหม่อินเดียเข้าคารวะ ถกคืบหน้าโครงการเชื่อมขนส่งทางถนน รับเสียดายล่าช้า เหตุรัฐยังไม่มีอำนาจเต็ม และถกโครงการท่าเรือนำลึกทวายเชื่อมแหลมฉบัง ชี้ ทำได้ลดระยะเดินทาง แต่ยังไร้คืบหน้า อ้างเลือกตั้งล่าช้าทำเสียโอกาสลงนาม FTA สองชาติช้าตาม ยกเสถียรภาพการเมือง ปชต. สำคัญพัฒนา ศก. วอนหยุดความเสียหายกลับเข้าสู่ ปชต.

วันนี้ (26 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายว่า เมื่อเวลา 10.00 น. น.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจตามปกติ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม(สป.กห.) เมืองทองธานี โดยไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ ต่อมานายหรรษ วรรณ ศฤงคลา เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ ที่ชั้น 10 สป.กห.เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยได้มีการหารือถึงความคืบหน้าในโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางถนน ระหว่างไทย พม่า อินเดีย (Trilateral Highway) ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมการการลงทุนระหว่างกันนั้น ได้มีความคืบหน้าอย่างมากโดยกำหนดเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน มีการชะลอความก้าวหน้าเนื่องจากขาดการผลักดันในระดับนโยบายโดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทยที่ยังไม่มีรัฐบาลอำนาจเต็ม จึงทำให้การประชุม หารือ หรือการตัดสินใจในระดับรัฐมนตรี มีความล่าช้า ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายเพราะเส้นทางนี้ จะสามารถส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน

นอกจากนี้ยังได้หารือถึงโครงการท่าเรือนำลึกทวายที่ไทยให้การสนับสนุนตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทางรัฐบาลได้มีแผนการเชื่อมโยงทวายกับท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านการลงทุนในถนน และรถไฟ ภายใต้แผนการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้าน โดยหากโครงการนี้สำเร็จ ทวายจะกลายเป็นอีกหนึ่งประตูเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งใหม่ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำผ่านมหาสมุทรอินเดีย สู่ประเทศอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาการค้าการลงทุน ส่งเสริมให้เศรษฐกิจภูมิภาคเติบโตในระยะยาว โดยเฉพาะในส่วนของการประหยัดต้นทุนและเวลาในการขนส่ง เพราะสามารถช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปทวายและเข้าเจนไน (Chennai) เหลือเพียงครึ่งเดียว เพราะไม่จำเป็นต้องเดินเรืออ้อมประเทศสิงคโปร์ ผ่านช่องแคบมะละกาซึ่งมีการจราจรที่คับคั่ง แต่ทว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ถือว่าเป็นค่าเสียโอกาสของทั้งไทย และอินเดีย คือ ความคืบหน้าในการเจรจา FTA ไทย-อินเดีย ที่ได้ลงนามไปแล้วในปี 2546 โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องสินค้าที่ยังไม่ได้มีการปรับลดภาษี แม้ว่าสองฝ่ายมีนโยบายที่สอดคล้องกันว่าควรจะผลักดันให้ข้อตกลงได้ข้อสรุปโดยเร็ว แต่ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้เพียงในระดับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากกระบวนการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลของประเทศไทยยังไม่เรียบร้อย ก็จะไม่สามารถเข้ากระบวนการการอนุมัติลงนามได้ จึงทำให้ผลการเจรจาล่าช้าออกไปค่ะ

ดังนั้น เสถียรภาพทางการเมือง ความเป็นประชาธิปไตย และความต่อเนื่องในการบริหารราชการ มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในมิติที่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับต่างประเทศ โอกาสที่เสียไปแล้วจะนำกลับคืนมาได้ยาก ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันคือหยุดความเสียโอกาสและความเสียหายไว้เพียงเท่านี้ โดยการกลับเข้าสู่ระบบ และกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น