ปูนซิเมนต์ไทยเร่งเจรจาพาร์ตเนอร์และสถาบันการเงินลุยโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่เวียดดามให้เร็วขึ้น หลังเห็นสัญญาณราคาเครื่องจักรถีบตัวสูงขึ้น ยอมรับสรุปเงินกู้ส่อเลื่อนเป็นต้นปี 58 จากปลายปีนี้
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุนโครงการปิโตรเคมีครบวงจรในประเทศเวียดนามว่า ขณะนี้บริษัทฯ ผู้รับเหมาก่อสร้างหลายรายได้ทยอยยื่นเสนอราคามาคาดว่าสิ้นปีนี้จะได้ข้อสรุปวงเงินลงทุนทั้งหมด และการเจรจาเงินกู้โครงการดังกล่าวที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2557 ต้องเลื่อนไปเป็นต้นปีหน้าแทน เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้สถาบันการเงินต้องใช้เวลาในการพิจารณา ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดรัฐประหารในไทย
โครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่เกาะ Long Son ในจังหวัด Ba Ria - Vung Tau ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ได้กำหนดมูลค่าโครงการที่ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเดิมบริษัทประเมินว่าต้นทุนโครงการนี้จะลดลง เนื่องจากช่วงปี 2551-2552 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก โครงการลงทุนขนาดใหญ่มีน้อย และซัปพลายเออร์เครื่องจักรที่ส่งมอบยาวนานมีงานไม่มาก ทำให้เชื่อว่าราคาเครื่องจักรจะลดลง แต่ล่าสุดในช่วง 6 เดือนนี้เริ่มเห็นสัญญาณราคาเครื่องจักรไต่สูงขึ้น เป็นผลจากสหรัฐฯ มีการค้นพบก๊าซและน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Gas /Shale Oil) ทำให้เกิดโครงการผลิตน้ำมัน-ก๊าซฯ และปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ
ดังนั้น ตนจึงได้มีการเจรจากับพาร์ตเนอร์และสถาบันการเงินเพื่อเร่งรัดโครงการดังกล่าว หลังโครงการดังกล่าวล่าช้ามานานถึง 7 ปี เพราะหากโครงการนี้ยังดีเลย์ออกไป 1-2 ปี มูลค่าการลงทุนอาจจะเพิ่มขึ้นได้ โดยโครงการนี้ได้ตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน คือ ซูมิโตโม มิตซุย เข้ามาดูแลด้วย
ทั้งนี้ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์แห่งแรกในเวียดนามมีผู้ถือหุ้นดังนี้ คือ SCC กาตาร์ปิโตรเลียม อินเตอร์เนชั่นแนล (QPI) ปิโตรเวียดนาม (PVN) และวีนาเคม (Vinachem) โดย QPI จะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบโพรเพนและแนฟทาที่ใช้ในกระบวนการผลิตในอนาคต ขณะที่ PV Gas บริษัทลูกของปิโตรเวียดนามจะเป็นผู้จัดหาก๊าซอีเทน โดยมีกำลังผลิตโอเลฟินส์ 1.4 ล้านตันต่อปี และโครงการขั้นกลางและปลายน้ำเพื่อป้อนตลาดภายในเวียดนาม
นายกานต์กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ 1.8 ล้านตัน มูลค่า 1.24 หมื่นล้านบาทในพม่าว่า โครงการดังกล่าวได้เดินหน้าไปตามแผนงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2559 เนื่องจากเศรษฐกิจในพม่าเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทฯ ยังต้องส่งออกปูนไปจำหน่ายที่พม่าอีกแม้ว่าโรงงานปูนดังกล่าวจะแล้วเสร็จก็ตาม เพราะความต้องการใช้ปูนในประเทศสูงถึง 4 ล้านตัน/ปี
นอกจากนี้ ยังมีแผนจะตั้งโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างในพม่าช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเพื่อต่อยอดธุรกิจซีเมนต์ ทั้งนี้คงต้องติดตามตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพม่าด้วย โดยยอมรับว่าราคาค่าเช่าที่ดินได้ปรับตัวสูงมาก และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะไฟฟ้า เนื่องจากพม่ายังขาดแคลนไฟฟ้าอีกมาก