“นันทวัลย์” เดินหน้าสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทย ชูฮับฐานผลิตยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ครัวโลก เตรียมลุยโปรโมต เน้นตลาดใหม่ หรือเวลาไปพบลูกค้าต้องเอาไปบอก หวังสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยเพิ่มขึ้น พร้อมเพิ่มกิจกรรมสนับสนุน ทั้งจัดหาวัตถุดิบ หาโอกาสค้าขาย ลงทุนในอาเซียน และเปิดตลาดส่งออกด้วยตลาดออนไลน์
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสร้างภาพลักษณ์อุตสาหกรรมสำคัญของไทยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้ทำการสำรวจและพบว่าปัจจุบันไทยมีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าหลายรายการในระดับโลก โดยเฉพาะยานยนต์ สามารถผลิตได้ปีละ 2 ล้านคัน เป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในระดับโลก และเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ทั้งเกษตรและประมง ซึ่งจะมีการทำแผนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
“กรมฯ ได้มีการหารือกับภาคเอกชนแล้ว เห็นตรงกันว่าเราสามารถโปรโมตเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าไทยได้ โดยเฉพาะการเป็นฮับการผลิต โดยยานยนต์ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก ผลิตได้สูงถึงปีละ 2 ล้านคัน และส่งออกไปทั่วโลก และยังเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายสำคัญและส่งออกไปทั่วโลกโลกด้วย ที่สำคัญในด้านการผลิตอาหารเราถือเป็นครัวของโลก ผลิตสินค้าได้หลากหลาย ทั้งเกษตร อาหาร ประมง และทุกวันนี้ก็ส่งออกไปทั่วโลก ถือเป็นจุดแข็งที่ไทยจะโปรโมตได้”
ทั้งนี้ แนวทางในการสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทย จะมีการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ในรายละเอียดเป็นรายอุตสาหกรรมผ่านสื่อต่างๆ ในประเทศเป้าหมาย โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าไทยผลิตสินค้าอะไรได้บ้าง และผลิตได้ในระดับไหนของโลก หรือเวลาไปติดต่อค้าขายก็จะนำไปเผยแพร่ให้ลูกค้าได้รับรู้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าในระดับโลก ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ลูกค้ามีความมั่นใจในสินค้าไทย แต่ยังทำให้มีผลต่อการสั่งซื้อสินค้าไทยรายการอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และทำให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นในที่สุด
นางนันทวัลย์กล่าวว่า กรมฯ ยังจะเร่งพัฒนาสินค้าไปสู่ตลาดระดับกลางถึงบน โดยจะเน้นการปรับปรุงพัฒนาด้านคุณภาพและการออกแบบที่สวยงามเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไทย เพราะขณะนี้ต้นทุนการผลิตสินค้าไทยในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากยังคงเข้าไปแข่งขันในตลาดระดับล่างต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า
ส่วนการจัดหาวัตถุดิบ กรมฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลในการแสวงหาวัตถุดิบ ซึ่งเป็นบริการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการของไทยที่มีความต้องการนำเข้าวัตถุดิบคุณภาพดีราคาถูกจากต่างประเทศ มีทางเลือกในการซื้อและนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ DITP Service Center หรือสายด่วน 1169 จากนั้นกรมฯ จะไปค้นหาผู้ขายวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตในประเทศต่างๆ แล้วนำมาแจ้งให้กับผู้ส่งออกภายใน 2 สัปดาห์
สำหรับกิจกรรมผลักดันการส่งออกอื่นๆ กรมฯ ได้เน้นการให้ข้อมูลเพื่อขยายการค้า การลงทุนในตลาดอาเซียน โดยมีศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน (AEC Business Support Center) ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 9 แห่งในประเทศไทย และอีก 8 แห่งในประเทศอาเซียน โดยล่าสุดได้ให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการทำการค้าการลงทุนในอาเซียนแล้ว เช่น การให้คำปรึกษาเชิงลึก การนัดหมายกับผู้นำเข้า การจัดหาวัตถุดิบ เป็นต้น จำนวนกว่า 2,500 ราย
นอกจากนี้ ยังได้ขยายช่องทางการส่งออกผ่านระบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.thaitrade.com ซึ่งเป็นเว็บไซด์ที่เป็นตลาดกลางซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ (B-2-B E-Marketplace) สำหรับสินค้าส่งออกของไทยทุกประเภท ปัจจุบันมีผู้เข้าชมกว่า 2.1 ล้านราย ผู้ขาย 11,528 ราย ผู้ซื้อ 60,419 ราย ซึ่งมีมูลค่าซื้อขายแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท และยังได้ใช้ช่องทางออนไลน์ในการส่งข้อมูลข่าวสาร ผ่านแอปพลิเคชัน DITP Connect ที่ให้บริการข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทั้งรายงานของทูตพาณิชย์ รายงานเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เป็นต้น