xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ ตั้งกรรมการ 4 ฝ่ายลงพื้นที่ตรวจสอบการผลิตน้ำมัน เน้น 4 พื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตั้งกรรมการ 4 ฝ่าย ดึง อบต. นักข่าวร่วมเข้าตรวจสอบสัมปทานปิโตรเลียมเพื่อตรวจการผลิตน้ำมัน เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านและย้ำให้เห็นถึงความโปร่งใส ตั้งเป้าหมาย 4 กลุ่มหลักเดินหน้าให้เสร็จภายใน ก.ย.นี้ ล่าสุดลงพื้นที่สำรวจ “บ.แพนโอเรียนท์สยาม” ที่กำแพงแสน ยันรถขนน้ำมันมีเพียง 5 เที่ยวเท่านั้น



นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ผอ.สำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งกรรมการ 4 ฝ่ายที่ประกอบไปด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่สัมปทานฯ, บริษัทผู้ได้รับสัมปทาน, เจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงฯ และนักข่าวท้องถิ่น เพื่อที่จะเข้าร่วมไปลงพื้นที่ดูสัมปทานปิโตรเลียมเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการลักลอบการผลิตที่ผิดกฎหมายใดๆ และยังเป็นการทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน โดยมีเป้าหมายพื้นที่ปิโตรเลียมบนบก แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่แหล่งสิริกิติ์และใกล้เคียง, พื้นที่เพชรบูรณ์, พื้นที่นครปฐม และพื้นที่ในภาคอีสานแหล่งสินภูฮ่อมและขอนแก่น ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ก.ย.นี้

ทั้งนี้ ล่าสุดวันที่ 18 ก.ค. กรมฯ ได้พาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ในแปลง L53/48 อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท แพน โอเรียนท์ สยาม จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2550 ภายใต้สัมปทานเลขที่ 1/2550/77 โดยได้รับอนุมัติพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมจำนวน 3 พื้นที่ รวม 20.26 ตารางกิโลเมตร ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพื้นที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 960 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติที่แยกได้จากกระบวนการผลิต 0.02 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีน้ำที่แยกได้จากกระบวนการผลิต 2,930 บาร์เรลต่อวัน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2557)

จากปริมาณการผลิตดังกล่าวการขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งพื้นที่ผลิต L53/48 ไปยังจุดซื้อขายที่โรงกลั่นบางจาก โดยรถบรรทุกเพียงวันละประมาณ 5 เที่ยว โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลตั๋วซื้อ ขายน้ำมัน หรือ Delivery Note ซึ่งจะระบุเลขทะเบียนรถที่ใช้ในการขนส่งน้ำมันดิบ และปริมาณที่ขนส่งได้อย่างชัดเจน ณ สถานีต้นทาง และปลายทาง สำหรับน้ำที่แยกได้จากกระบวนการผลิตจะมีขนส่งเพื่อนำไปอัดกลับ ณ ฐานผลิต L53-C และ L53-G วันละ 15 เที่ยว

“อัตราการผลิตน้ำมันดิบไม่สามารถนับจากปริมาณรถที่เข้าออกจากสถานีผลิตได้ เพราะนอกจากกิจกรรมการขนส่งน้ำมันแล้ว ยังมีรถขนส่งน้ำด้วย และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในกรณีดังกล่าว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ขอความร่วมมือบริษัทฯ ในการเปลี่ยนสีรถขนส่งแต่ละประเภทให้มีความแตกต่างกัน โดยรถน้ำมันจะเป็นสีดำ และรถขนน้ำจะเป็นสีฟ้า และมีป้ายแสดงชนิดของรถแต่ละประเภทเพื่อความชัดเจนอีกด้วย” นายวีระศักดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น