xs
xsm
sm
md
lg

“คิว-เกรียงศักดิ์” นักธุรกิจสายพันธุ์ใหม่กับนาฬิกาหรูเรือนโปรด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกรียงศักดิ์ ประตูน้ำขอนแก่น (ทวีจักษ์) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประตูน้ำขอนแก่น จำกัด
ใครจะเชื่อว่านวัตกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาด้วยมันสมองกลประกอบกับทั้งยังมีดีไซน์สวยเก๋มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะกระชากใจนักธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ คิว-เกรียงศักดิ์ ประตูน้ำขอนแก่น ได้อยู่หมัด ถึงขนาดควักกระเป๋าซื้อเก็บสะสมไว้มากมาย ราคาตั้งแต่หลักพันยันหลักล้าน เพียงเพื่อที่จะได้คลุกคลีกับความสุขที่สัมผัสได้อย่างใกล้ชิด ทุกค่ำคืนเขาจะนำนาฬิกาทุกเรือนที่ซื้อดูแลอย่างมีความสุข

 
คิว-เกรียงศักดิ์ ประตูน้ำขอนแก่น นักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ ทายาทคนเดียวของ ชวลิต-จิราภรณ์ ประตูน้ำขอนแก่น (ทวีจักษ์) เริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองว่า หลังจบปริญญาตรีด้านการโรงแรม มหาวิทยาลัยมหิดลอินเตอร์แล้ว ก็กลับมาช่วยครอบครัวทำธุรกิจด้านโรงแรมประตูน้ำ ขอนแก่น หลังสั่งสมประสบการณ์ธุรกิจ ไม่นาน เขาก็เห็นช่องทางแตกไลน์ธุรกิจครอบครัวด้วยการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลซื้อที่ดินกว่า 200 ไร่ เพื่อเปิดศูนย์การค้า "ประตูน้ำขอนแก่น" ให้เป็นศูนย์กลางแหล่งแฟชั่นครบวงจรแห่งภาคอิสาน ที่มีทั้งห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สวนสนุก สวนน้ำ "Dino Aqua World"

ในวัย 31 ปีของ “คิว” กับภารกิจการปั้นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่นั้น เขายอมรับว่าเป็นงานใหญ่ แต่ไม่รู้สึกกลัวในทางตรงกันข้ามเขากลับคิดว่าเป็นสิ่งท้าทาย ที่ต้องทำให้ได้ และตอนนี้ความฝันของเขาก็ใกล้จะเป็นจริงแล้ว เพราะนักช้อปขอนแก่น ตลอดจนขาช้อปจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาวกับพม่า ไม่มีใครไม่รู้จัก

 
สำหรับชีวิตส่วนตัวของหนุ่มคิวนั้น ก็เป็นเหมือนเด็กหนุ่มทั่วไป คือท่องเที่ยวพบปะสังสรรค์เพื่อนๆ ขณะที่โลกส่วนตัวอีกด้านเขามีความสุขกับการสะสมนาฬิกา “ผมเริ่มเก็บนาฬิกามาตั้งแต่เด็กครับ เรือนแรกก็ 16 ปีมาแล้ว ผมเลือกเก็บตามความชอบ ไม่เน้นยี่ห้อว่าต้องเป็นยี่ห้อแพง ตอนนี้มีมากกว่า 50 เรือนแล้ว ประมาณ 4-5 กระเป๋าแล้วครับ”

คิวบอกว่าเขาชื่นชอบศาสตร์กลไก ชิ้นส่วนต่างๆ ที่พอนำมาประกอบกันแล้วบอกเวลาเราได้ ซึ่งเขาถือว่าเป็นความอัจฉริยะของมนุษย์ แม้ว่ากลไกลบางอย่างจะไม่ได้ใช้งานก็ตาม คิวบอกว่า เขามองนาฬิกาเป็นเหมือนศิลปะชิ้นหนึ่ง ที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ “ศาสตร์” ก็คือชิ้นส่วนเล็กๆ หรือกลไกต่างๆ ที่นำมาสอดประสานกันแล้วสามารถบอกเวลาเราได้ ในขณะเดียวกัน “ศิลปะ” ก็มีอยู่ในนาฬิกา เช่น นาฬิกาประเภทหลังเปลือยที่เปิดมาแล้วเห็นกลไกภายใน คนต้องมานั่งขัด นั่งฝน จนกระทั่งทำออกมาแล้วด้านหลังสวยกว่าด้านหน้า นั่นคือศิลปะ

 
“ผมไม่ได้มองความ Mass ของมันเป็นหลัก แต่มองในแง่ศิลปะที่เหมือนมาสเตอร์พีชชิ้นหนึ่ง ผมชอบเอากลไกมาทำเป็นตัวบอกเวลา บอกข้างขึ้นข้างแรม บอกเวลากลางวันกลางคืน ให้ความเที่ยงตรงในเรื่องเวลาแก่เราได้ นาฬิกาแต่ละเรือนที่ผมซื้อ นอกจากกลไก แล้วก็เน้นดีไซน์เป็นหลัก อย่างPatek Philippe สายเหล็กสีทอง ผมซื้อเพราะเป็นรุ่นสุดท้ายของคอลเลคชั่นนี้ ซึ่งปกติแล้วPatek Philippe จะไม่เน้นนาฬิกาสายเหล็ก แต่เป็นเพราะมีคนถามกันมากว่าทำไมไม่ทำสายเหล็ก พอใกล้จะปิดคอลเลคชั่นปรากฏเขาก็ทำนาฬิกาสายเหล็กขึ้นมา ผมก็เลยตัดสินใจซื้อเก็บทันที เพราะถ้าเป็นคนที่เล่นนาฬิกาจะรู้ทันทีว่า เป็นรุ่นพิเศษจริงๆ”

ความสุขของนักสะสมนาฬิกาอย่างคิวนั้น นอกจากเรื่องศิลปะความสวยงาม แล้ว ความยากของการที่จะได้มาครอบครองก็เป็นความท้าทายอีกประการหนึ่ง เพราะแต่ละเรือนที่เขาได้มานั้น ไม่ใช่มีเงินก็จะหาซื้อได้ ต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและการแสวงหาด้วยเช่นกัน
“เสน่ห์ของPatek Philippe อีกอย่างที่ชอบคือ นอกจากงานประณีตแล้ว กว่าจะได้มาก็ไม่ง่าย หากต้องการเป็นเจ้าของนาฬิกา Patek Philippe ต้องสั่งซื้อ และคอยไม่น้อยกว่า 9 เดือนจึงจะได้รับนาฬิกา ส่วน PANERAI ชอบเพราะจะออกแนววัยรุ่นใส่ได้กับเสื้อผ้าทุกแบบ อย่างเรือนนี้รุ่น 219 หน้าแซนวิชไขลาน ฝาหลังเปลือยโชว์เครื่องไขลาน เรือนนี้ผมใส่ติดข้อมือ ที่รักเพราะหายาก ผลิตแค่ 600 เรือนทั่วโลก กว่าจะได้มาก็ยากเหมือนกัน โชคดีที่คอยติดตามแมกกาซีนและเป็นสมาชิกชมรมนาฬิกาก็จะทราบว่าเขาจะมีรุ่นไหนออกมาบ้างครับ”

เมื่อถามถึงนาฬิกาเรือนโปรดที่ซื้อเก็บไว้ หากมีคนมาขอซื้อจะขายหรือไม่ คิวตอบพร้อมรอยยิ้มว่า สำหรับเขาแล้ว ไม่มองนาฬิกาเป็นการลงทุน แต่อยากมองว่า ให้คุณค่าทางจิตใจ เป็นมรดกที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น และบ่งบอกถึงบุคลิก และรสนิยมของคน ๆ นั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น