xs
xsm
sm
md
lg

“เชฟรอน” จี้ไทยชัดเจนนโยบายสัมปทาน หวั่นกระทบลงทุนระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เชฟรอน” ผู้ผลิตก๊าซฯ รายใหญ่ในไทยประกาศพร้อมขยายการลงทุนต่อเนื่องหลัง 50 ปีทุ่มไปแล้ว 9.9 แสนล้านบาท แต่ขอให้รัฐชัดเจนนโยบายสัมปทานโดยเฉพาะแหล่งของเชฟรอนที่จะหมดสัญญาปี 2565 และการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทางทะเล เปิดเผยระหว่างการนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมแท่นปลาทองว่า แม้ว่าไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่เชฟรอนยังคงมีแผนจะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพียงแต่ขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนและดำเนินการอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 ปี ทั้งการต่ออายุสัมปทานของเชฟรอนที่จะหมดลงในปี 2565 (แหล่งสตูล เอราวัณ ปลาทอง บรรพต ฟูนาน จักรวาล และโกมินทร์) และการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ (ครั้งที่ 21)

“เราก็พร้อมที่จะลงทุนในแปลงสัมปทานเดิมที่จะหมดอายุลง และสนใจสัมปทานรอบใหม่โดยเฉพาะแหล่งที่ใกล้ของเดิมที่คิดว่าพอมีศักยภาพ ซึ่งบริษัทไม่ได้มีปัญหาอะไรหากรัฐจะมีการปรับระบบจัดเก็บรายได้จากการขุดเจาะปิโตรเลียมเป็นแบบใดก็ตาม เพราะเราก็ต้องมาดูความคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะแต่ละแหล่งต้องใช้เวลาสำรวจรวมถึงผลิต 5-10 ปีและแต่ละแหล่งต้องเตรียมตัว 2-3 ปีในการรักษาระดับการผลิต หากช้าจะกระทบต่ออัตราการผลิตปิโตรเลียมได้” นายไพโรจน์กล่าว

ทั้งนี้ กรณีที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) มีแนวคิดที่จะแปลงทรัพย์สินจากแหล่งสัมปทานที่หมดอายุเพื่อร่วมลงทุนคงต้องหารือ เพราะขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานด้านข้อกฎหมายใดมารองรับเรื่องดังกล่าว ส่วนแนวคิดปรับปรุงระบบสัมปทาน Thailand III ที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้วเมื่อเทียบกับศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมและภาครัฐก็ได้รับผลตอบแทนสูง 60-70% ขณะที่เอกชนก็ได้รับผลตอบแทนที่พอรับได้และจูงใจให้พัฒนาเทคโนโลยีในการขุดเจาะต่อ หากจะปรับเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์หรือ PSC ก็ควรระวังเพราะเป็นระบบที่เปิดให้มีการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ได้ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสคอร์รัปชันสูงกว่าเพราะไม่มีกฎระเบียบชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เชฟรอนเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน เดิมชื่อยูโนแคล มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยมากว่า 50 ปี เป็นผู้รับสัมปทานรายแรกที่ค้นพบและสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์ได้จากอ่าวไทยเมื่อกว่า 30 ปีก่อน จนถึงปัจจุบันเชฟรอนลงทุนจนถึงปี 2556 ประมาณ 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 990,000 ล้านบาท ผลิตก๊าซฯ จนถึงปัจจุบัน 1.6 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว 1 แสนบาร์เรลต่อวัน ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่าสองแสนล้านบาท หรือราว 2% ของจีดีพี และช่วยให้เกิดการจ้างงานกว่า 200,000 คน



กำลังโหลดความคิดเห็น