xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทที่ปรึกษา ตปท.หนุนไทยเร่งเปิดสัมปทานรอบ 21 ชี้ระบบ PSC ไม่เหมาะ-ศักยภาพด้อยกว่าอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“WoodMac” บริษัทที่ปรึกษาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำ ชี้ไทยควรเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและลดการนำเข้า LNG ชี้ 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีการพบปิโตรเลียมเพื่อทดแทนปริมาณสำรองที่ถูกใช้ไปเพียง 25% เท่านั้น ส่วนกระแสสังคมเรียกร้องให้นำระบบ PSC มาใช้แทนระบบสัมปทานจะทำให้การพัฒนาปิโตรเลียมใช้เวลายาวขึ้น และไม่เหมาะสมกับศักยภาพปิโตรเลียมของไทยที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

วันนี้ (31 ต.ค.) สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้จัดบรรยายสาธารณะในหัวข้อ “ภาวะความเสี่ยงของการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย” ซึ่งเป็นการนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงในการผลิตปิโตรเลียมในไทยจากบริษัท Wood Mackenzie (WoodMac) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำ

Mr.Craig McMahon หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ WoodMac กล่าวว่า จากสถิติพบว่าแหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบแหล่งปิโตรเลียมของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนโดยเฉพาะมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ใหญ่กว่าไทยถึง 8 เท่า ขณะที่ปริมาณสำรองปิโตรเลียมไทยก็น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านถึง 10 เท่า

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมแล้วมีปริมาณเทียบเท่าน้ำมันดิบ 2,300 ล้านบาร์เรล แต่ความสามารถในการสำรวจพบปิโตรเลียมเพื่อทดแทนปริมาณสำรองที่ใช้ไปมีไม่ถึง 25% หากไม่มีการสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มเติม ปริมาณสำรองปิโตรเลียมคงเหลือเพียงพอที่จะผลิตใช้ได้ไม่เกิน 8-9 ปี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ที่ 21 ที่ได้ล่าช้ามานาน 2 ปี ซึ่งหากเลื่อนออกไปอีกจะยิ่งทำให้นักลงทุนสับสนมากขึ้น

หากเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการผลิตปิโตรเลียมเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนแล้ว พบว่าหลักเกณฑ์สัมปทาน หลักเกณฑ์ Thai III มีการเรียกเก็บส่วนแบ่งผลประโยชน์ในรูปแบบของค่าภาคหลวงที่เก็บเป็นขั้นบันไดตามปริมาณการผลิต ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในอัตรา 50% จากผลกำไรและผลตอบแทนพิเศษที่เก็บจากกำไรเกินปกติของการผลิต พบว่าส่วนแบ่งผลประโยชน์ของรัฐที่ไทยได้รับอยู่ที่ 67% ของกำไรเบื้องต้นสูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 58% แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนที่อยู่ระดับ 78% เนื่องมาจากศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมไทยที่ยังคงเหลือให้ค้นพบมีขนาดเล็กกว่าประเทศอาเซียน

ทั้งนี้ ระบบสัมปทานกับระบบสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์ (PSC) มีข้อดี ข้อด้อยต่างกัน ซึ่งระบบ PSC เหมาะสำหรับประเทศที่มีศักยภาพและความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งปิโตรเลียมที่มีมากกว่าการใช้ภายในประเทศจนต้องส่งออก เช่นอินโดนีเซียและมาเลเซียใช้ระบบดังกล่าวอยู่ แต่ไทยมีการเจาะสำรวจปิโตรเลียมมานานถึง 40 ปี ทำให้แหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่มีการสำรวจและพัฒนาไปแล้ว คงเหลือแต่แหล่งปิโตรเลียมที่มีขนาดเล็ก และมีความเสี่ยงของการผลิตปิโตรเลียมมากกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน ดังนั้นการใช้ระบบสัมปทานจึงมีความสอดคล้องกับศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมของไทย

ดังนั้น หากไทยมีการปรับเพิ่มส่วนแบ่งของรัฐสูงขึ้นก็ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้ รวมทั้งหากมีการปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบ PSC ตามที่กระแสสังคมเรียกร้อง เชื่อว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศแต่อาจจะบั่นทอนประสิทธิภาพการบริหารจัดการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมของไทยได้

“สิ่งสำคัญของไทยมี 3 เรื่อง คือ 1. การสนับสนุนส่งเสริมชักชวนให้มีการหาปิโตรเลียมให้มากที่สุด 2. สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมที่ค้นพบให้พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และ 3. ไทยควรให้ความสนใจที่จะนำปิโตรเลียมในใต้ดินนำขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะเป็นการลดภาระการนำเข้า LNG มากขึ้นในอนาคต ส่วนกรณีที่กระแสสังคมเรียกร้องให้ไทยมีการปรับเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบ PSC ซึ่งเป็นระบบที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาทมาก เชื่อว่าทำให้การพัฒนาปิโตรเลียมยาวนานขึ้นไปถึง 7-8 ปีจากเดิมที่ระบบสัมปทานจะใช้เวลา 4 ปีในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมตั้งแต่การสำรวจจนถึงขั้นตอนการผลิต”
กำลังโหลดความคิดเห็น