xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลศึกษา 2 ฉบับปฏิรูประบบสัมปทานปิโตรเลียม-LPG ใหม่ 25 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่ม ส.ว.เลือกตั้งทิ้งทวนเปิดผลรายงานการศึกษาธรรมาภิบาลพลังงานไทย 2 ฉบับ วันที่ 25 เม.ย.นี้ ชูปฏิรูปผ่าทางตันยกเลิกระบบสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ ปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีครัวเรือนต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ลดบทบาท “ปตท.” เลิกผูกขาดระบบท่อก๊าซ โรงแยกก๊าซ

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและแกนนำเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย เปิดเผยว่า วันที่ 25 เมษายนคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา จะเปิดรายงานต่อภาคประชาชนเรื่องผลศึกษาธรรมาภิบาลพลังงานไทย 2 ฉบับ ว่าด้วยเรื่อง ปัญหาระบบสัมปทานปิโตรเลียม และการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนเพื่อที่เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ในการปฏิรูปต่อไป

“จะมีการเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้ารับฟัง ซึ่งเวทีนี้คงถือเป็นการรายงานต่อภาคประชาชนแทนเพราะขณะนี้ไม่มีสภาฯ ไม่มีรัฐบาลที่จะมารับฟัง ซึ่งรายงานดังกล่าวถือเป็นรายงานของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ที่มาจากเลือกตั้ง ก็จะถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะนำไปเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปพลังานต่อไป” นายอิฐบูรณ์กล่าว

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้นจะเสนอให้ปรับระบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ หรือสัญญารับจ้างบริการที่จะเอื้อให้เกิดการนำทรัพยากรที่ค้นพบมาจัดสรรให้ประชาชนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ขณะที่ราคาแอลพีจีก็จะต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำคือการปรับระบบสัมปทานปิโตรเลียม กลางน้ำคือการลดการผูกขาดกิจการที่เกี่ยวข้องทั้งระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ระบบขนส่งท่าเรือ และคลังก๊าซ ที่ปัจจุบัน บมจ.ปตท.ผูกขาดทั้งหมด
ส่วนปลายน้ำคือนโยบายรัฐที่จะต้องไม่เอื้อให้ราคาแอลพีจีสูงขึ้นอย่างไม่จำเป็นโดยเฉพาะการจัดสรรแอลพีจีเพื่อป้อนให้กับปิโตรเคมีของเครือ ปตท.ทั้งหมด เมื่อการใช้ส่วนนี้สูงขึ้นทำให้เกิดการผลักดันการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศ ดังนั้นส่วนนี้ไม่ควรมาผลักภาระให้ประชาชนแต่ควรจะให้กับกลุ่มที่สร้างมูลค่าเพิ่มรับภาระไปแทน รวมถึงการลดบทบาทและนำไปสู่การยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

“ระบบท่อก๊าซฯ นั้น เมื่อ ปตท.แปรรูปแล้วควรจะแยกออกมาแต่ปรากฏว่ารัฐแยกมาเพียงท่อบนบก แต่ท่อในทะเลกลับยังไม่แยก ส่วนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่เห็นว่าเป็นการผูกขาดโดย ปตท.ทำให้การจัดสรรไม่เป็นธรรม เป็นไปได้หรือไม่ที่จะดึงกลับมาแยกเป็นบริษัทใหม่ให้เป็นของรัฐแล้วผลักดันให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น” นายอิฐบูรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น