xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.เผยทางด่วนเริ่มฟื้นตัว “บางจาก” สนพัฒนาที่ใต้เขตทางทำจุดพักรถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทพ.เผยปริมาณจราจรบนทางด่วนเริ่มกระเตื้อง เฉลี่ยกว่า 1.6 ล้านคันต่อวัน แต่ทั้งปี 57 เติบโตต่ำเป้า ฉุดรายได้ลดจากปีก่อนประมาณ 10% “อัยยณัฐ” เผยแผนพัฒนาที่ใต้ทางด่วนนำร่อง 5 จุด ส่วนใหญ่เน้นประโยชน์สาธารณะ ไม่มุ่งรายได้ ขณะที่ “บางจาก” สนพัฒนาใต้ด่วนรามอินทราและวงแหวนตะวันออกเป็นจุดพักรถศูนย์ลอจิสติกส์

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณการจราจรบนทางด่วนในภาพรวมเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 1.6 ล้านคนต่อวัน ซึ่งเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วแต่ถือว่าการเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย โดยก่อนหน้านี้คาดว่าปี 2557 ปริมาณการจราจรจะเติบโตจากปีก่อนประมาณ 4-5% โดยจะส่งผลทำให้รายได้รวมปี 2557 จะลดลงจากปี 2556 ประมาณ 10% ด้วยซึ่งการใช้ทางด่วนลดลง เป็นผลมาจากการชุมนุมทางการเมืองช่วงปลายปี 2556 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ยอมรับรายได้หลักของ กทพ.คือรายได้จากค่าผ่านทาง โดยปี 2556 มีรายได้รวม 14,515.9 ล้านบาท เป็นรายได้จากค่าผ่านทาง 12,434.3 ล้านบาท ส่วนรายได้จากกิจกรรมอื่น เช่น การพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษเชิงพาณิชย์ ขอบเขตพื้นที่การทางพิเศษของ กทพ.นั้น มีประมาณ 180 ล้านบาท ซึ่งตามนโยบายการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนไม่ใช่เป้าหมายที่จะสร้างรายได้หลักโดยต้องการให้นำพื้นที่ใต้ทางด่วนไปใช้ประโยชน์สาธารณะมากกว่า โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนา เช่น สวนสาธารณะ ลานกีฬาชุมชน เป็นต้น

“หลักการพื้นที่ใต้ทางด่วนไม่มุ่งเน้นรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมด้วย ดังนั้น พื้นที่ตามแผนที่จะมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์จะยังเป็นไปตามความเหมาะสมโดยเน้นพื้นที่มีศักยภาพ แต่จะไม่มีการเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับเชิงพาณิชย์แล้ว” นายอัยยณัฐกล่าว

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษเชิงพาณิชย์ ขอบเขตพื้นที่การทางพิเศษ (กทพ.) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว แนวทางการพัฒนาจะเป็นในรูปแบบผสมผสานให้มีการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะและเชิงพาณิชย์ควบคู่กัน ซึ่งนำรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลบริหารจัดการโครงการ และได้กำหนดโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในพื้นที่ 5 จุด บริเวณ 1. บริเวณถนนสีลม เนื้อที่ประมาณ 8.4 ไร่ มอบให้กระทรวงมหาดไทยพัฒนาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 2. บริเวณถนนสุขุมวิท ประมาณ 4.4 ไร่ มอบให้กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ 3. บริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มอบให้กระทรวงมหาดไทย พัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์เพื่อชุมชน เช่น ศูนย์กีฬา

4. บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ซอยศาสนา อยู่ระหว่างเจรจาค่าเช่ากับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ขนส่งรถโดยสารขนาดเล็ก เช่น จัดระเบียบทางเข้าออก ยกระดับพื้นที่ 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นลานจอดรถ ชั้นบนเป็นพื้นที่สำหรับพักผู้โดยสาร บขส. เป็นต้น

และ 5. บริเวณทางเข้าด่านฯ จตุโชติ (ทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) หรือบริเวณวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ อยู่ระหว่างเจรจากับ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในเรื่องแบบและผลตอบแทนค่าเช่าเพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ลอจิสติกส์เพื่อขนส่งสินค้าและรองรับจุดพักรถขนาดใหญ่และกิจกรรมทางอุตสาหกรรมด้านเหนือและฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น