สหภาพฯกทพ.ยื่น”ประจิน”ขอให้ตรวจสอบและทบทวนสัญญาสัมปทานทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ ใหม่ ชี้รัฐสุดเสียเปรียบประชาชนต้องจ่ายค่าทางด่วนแพง เขียนสัญญาตลอด 30 ปี เอกชนได้รับผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ทั้งที่รัฐจ่ายค่าเวนคืนเกือบหมื่นล้าน โขกค่าผ่านทางขึ้นปีละ 15 บาททุกๆ 5 ปี วอน คสช.ตั้งบอร์ดการทางฯใหม่โดยเร็ว ยก “สร้อยทิพย์” เหมาะสมนั่งหัวโต๊ะ
วานนี้ (17 ก.ค.) นายลาภดี กลยนีย์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ทางสหภาพฯ กทพ.ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและทบทวนสัญญาสัมปทานโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งเมื่อวันที่ 14 ก.ย.55 กทพ.ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้าง บริหารจัดการ ให้บริการและบำรุงรักษา โครงการพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ กับ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน โดย BECL เป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างมูลค่า 17,137 ล้านบาท ส่วนภาครัฐลงทุนค่าเวนคืนที่ดินมูลค่า 9,564 ล้านบาท
“จากการตรวจสอบสัญญาพบว่า เงื่อนไขในสัญญาทำให้ภาครัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบเอกชนอย่างมากและส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าผ่านทางสูงโดยไม่เป็นธรรมตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี” นายลาภดี ระบุ
นายลาภดี อธิบายต่อว่า ในสัญญาข้อ 11.2 กำหนดอัตราค่าผ่านทางสำหรับทางพิเศษเมื่อเปิดใช้ ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว คือ อัตรา 50 บาท (รถ 4 ล้อ) อัตรา 80 บาท (รถ 6-10 ล้อ) และอัตรา 115 บาท (รถมากกว่า 10 ล้อ) สัญญาข้อ 11.4 เรื่องการปรับอัตราค่าผ่านทางสำหรับทางพิเศษนั้น พบว่า ตามสัญญาสัมปทานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางด่วนศรีรัช การปรับอัตราค่าผ่านทางสำหรับทางพิเศษ ผู้รับสัมปทานจะกำหนดว่าไว้ว่า ให้มีการปรับเพิ่มทุก 5 ปี ในราคา 10 บาท ประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษยังรับไม่ได้ แต่ในสัญญาสัมปทานศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ฉบับนี้ กำหนดให้มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกระยะเวลา 5 ปี ในอัตรา 15 บาท , 25 บาทและ 35 บาท (รถ 4 ล้อ, 6-10 ล้อและ มากกว่า 10 ล้อตามลำดับ) โดยเอกชนเป็นมีสิทธิได้รับค่าผ่านทางฝ่ายเดียวตลอดระยะเวลาสัมปทาน
“สัญญาสัมปทานนี้ลงนามสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีและมีนายอัยยณัฐ ถินอภัย เป็นผู้ว่าฯกทพ. ซึ่งเคยมีการท้วงติงแล้วและบอร์ด กทพ.ในขณะนั้นได้ให้ กทพ.ไปหารือกับกฤษฎีกา เนื่องจากมีการตีความว่าการลงนามสัญญาโดยเอกชนเป็นผู้ก่อสร้าง และได้สัมปทานอายุ 30 ปี นั้นไม่ถูกต้อง แต่ผู้บริหาร กทพ.ไม่ได้ดำเนินการใดๆ โดยเร่งรัดเดินหน้าลงนามสัญญา” นายลาภดี กล่าว
นายลาภดี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การกำหนดเรื่องปรับค่าผ่านทาง ยังไม่ตรงกับผลศึกษาที่ กทพ.ได้ว่าจ้างทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาซึ่งพบว่าการปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี ควรอยู่ที่อัตรา 5 บาทกว่า ซึ่งตามหลัก กทพ.จะใช้การปัดเศษลงเป็น 5 บาท โดยปีที่1-5 จัดเก็บที่ 50 บาท (รถ 4 ล้อ) ปีที่ 6-10 ปรับขึ้น เป็น 55 บาท ปีที่ 11-15 ปรับเป็น 60 บาท เป็นต้น จึงขอให้ทาง คสช.จรวจสอบและพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่เป็นสมบัติของประชาชนและประเทศชาติ
“เรื่องนี้มีความชัดเจนว่า รัฐเสียเปรียบส่วนประชาชนผู้ใช้ทางด่วนต้องจ่ายค่าผ่านทางแพง เชื่อว่า ทางคสช.จะพิจารณาและให้ทบทวนเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการท้วงติงแต่ผู้เกี่ยวข้องไม่สนใจ” นายลาภดี กล่าว
ประธานสหภาพ กทพ.กล่าวด้วยว่า สำหรับสัญญาสัมปทานทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ระหว่าง กทพ.กับ BECL นั้น กทพ.ได้ตกลงให้สิทธิแก่ BECL แต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่วันที่ กทพ.กำหนดให้เริ่มงานจนสิ้นสุดสุดระยะเวลาสัมปทาน โดย BECL เป็นผู้ออกแบบ-ก่อสร้าง จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบควบคุมการเก็บเงินค่าผ่านทาง ระบบสื่อสารและระบบควบคุมการจราจรและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการ เรียกเก็บค่าผ่านทาง ให้บริการบำรุงรักษาทางและระบบ ฯลฯ ส่วนกทพ.จะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับใช้ในการก่อสร้าง และดำเนินงาน และยินยอมให้ BECL มีสิทธิในรายได้ค่าผ่านทางและรายได้อื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดระยะเวลาสัมปทาน โดยกทพ.จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนก็ต่อเมื่อ ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR ) ในปีใดเกินกว่า 13.5 % แต่ไม่เกิน 15.5% BECL จะแบ่งผลประโยชน์ในปีนั้นให้ กทพ.อัตรา 30% ของกระแสเงินสดสุทธิส่วนที่ให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 13.5% ดังกล่าว และหาก BECL ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในปีใดเกินกว่า 15.5% จะแบ่งผลประโยชน์ในปีนั้นให้ กทพ. 50% ของส่วนเกิน 15.5%
“นอกจากนี้ยังต้องการให้ทาง คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ชุดใหม่โดยเร็ว โดยเสนอขอให้ตั้ง นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานบอร์ด กทพ. เนื่องจากเคยเป็นประธานบอร์ด กทพ.มาก่อน จะเข้าใจปัญหาและขับเคลื่อนการทำงานของ กทพ.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายลาภดี กล่าวในที่สุด
วานนี้ (17 ก.ค.) นายลาภดี กลยนีย์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ทางสหภาพฯ กทพ.ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและทบทวนสัญญาสัมปทานโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งเมื่อวันที่ 14 ก.ย.55 กทพ.ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้าง บริหารจัดการ ให้บริการและบำรุงรักษา โครงการพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ กับ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน โดย BECL เป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างมูลค่า 17,137 ล้านบาท ส่วนภาครัฐลงทุนค่าเวนคืนที่ดินมูลค่า 9,564 ล้านบาท
“จากการตรวจสอบสัญญาพบว่า เงื่อนไขในสัญญาทำให้ภาครัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบเอกชนอย่างมากและส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าผ่านทางสูงโดยไม่เป็นธรรมตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี” นายลาภดี ระบุ
นายลาภดี อธิบายต่อว่า ในสัญญาข้อ 11.2 กำหนดอัตราค่าผ่านทางสำหรับทางพิเศษเมื่อเปิดใช้ ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว คือ อัตรา 50 บาท (รถ 4 ล้อ) อัตรา 80 บาท (รถ 6-10 ล้อ) และอัตรา 115 บาท (รถมากกว่า 10 ล้อ) สัญญาข้อ 11.4 เรื่องการปรับอัตราค่าผ่านทางสำหรับทางพิเศษนั้น พบว่า ตามสัญญาสัมปทานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางด่วนศรีรัช การปรับอัตราค่าผ่านทางสำหรับทางพิเศษ ผู้รับสัมปทานจะกำหนดว่าไว้ว่า ให้มีการปรับเพิ่มทุก 5 ปี ในราคา 10 บาท ประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษยังรับไม่ได้ แต่ในสัญญาสัมปทานศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ฉบับนี้ กำหนดให้มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกระยะเวลา 5 ปี ในอัตรา 15 บาท , 25 บาทและ 35 บาท (รถ 4 ล้อ, 6-10 ล้อและ มากกว่า 10 ล้อตามลำดับ) โดยเอกชนเป็นมีสิทธิได้รับค่าผ่านทางฝ่ายเดียวตลอดระยะเวลาสัมปทาน
“สัญญาสัมปทานนี้ลงนามสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีและมีนายอัยยณัฐ ถินอภัย เป็นผู้ว่าฯกทพ. ซึ่งเคยมีการท้วงติงแล้วและบอร์ด กทพ.ในขณะนั้นได้ให้ กทพ.ไปหารือกับกฤษฎีกา เนื่องจากมีการตีความว่าการลงนามสัญญาโดยเอกชนเป็นผู้ก่อสร้าง และได้สัมปทานอายุ 30 ปี นั้นไม่ถูกต้อง แต่ผู้บริหาร กทพ.ไม่ได้ดำเนินการใดๆ โดยเร่งรัดเดินหน้าลงนามสัญญา” นายลาภดี กล่าว
นายลาภดี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การกำหนดเรื่องปรับค่าผ่านทาง ยังไม่ตรงกับผลศึกษาที่ กทพ.ได้ว่าจ้างทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาซึ่งพบว่าการปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี ควรอยู่ที่อัตรา 5 บาทกว่า ซึ่งตามหลัก กทพ.จะใช้การปัดเศษลงเป็น 5 บาท โดยปีที่1-5 จัดเก็บที่ 50 บาท (รถ 4 ล้อ) ปีที่ 6-10 ปรับขึ้น เป็น 55 บาท ปีที่ 11-15 ปรับเป็น 60 บาท เป็นต้น จึงขอให้ทาง คสช.จรวจสอบและพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่เป็นสมบัติของประชาชนและประเทศชาติ
“เรื่องนี้มีความชัดเจนว่า รัฐเสียเปรียบส่วนประชาชนผู้ใช้ทางด่วนต้องจ่ายค่าผ่านทางแพง เชื่อว่า ทางคสช.จะพิจารณาและให้ทบทวนเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการท้วงติงแต่ผู้เกี่ยวข้องไม่สนใจ” นายลาภดี กล่าว
ประธานสหภาพ กทพ.กล่าวด้วยว่า สำหรับสัญญาสัมปทานทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ระหว่าง กทพ.กับ BECL นั้น กทพ.ได้ตกลงให้สิทธิแก่ BECL แต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่วันที่ กทพ.กำหนดให้เริ่มงานจนสิ้นสุดสุดระยะเวลาสัมปทาน โดย BECL เป็นผู้ออกแบบ-ก่อสร้าง จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบควบคุมการเก็บเงินค่าผ่านทาง ระบบสื่อสารและระบบควบคุมการจราจรและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการ เรียกเก็บค่าผ่านทาง ให้บริการบำรุงรักษาทางและระบบ ฯลฯ ส่วนกทพ.จะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับใช้ในการก่อสร้าง และดำเนินงาน และยินยอมให้ BECL มีสิทธิในรายได้ค่าผ่านทางและรายได้อื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดระยะเวลาสัมปทาน โดยกทพ.จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนก็ต่อเมื่อ ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR ) ในปีใดเกินกว่า 13.5 % แต่ไม่เกิน 15.5% BECL จะแบ่งผลประโยชน์ในปีนั้นให้ กทพ.อัตรา 30% ของกระแสเงินสดสุทธิส่วนที่ให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 13.5% ดังกล่าว และหาก BECL ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในปีใดเกินกว่า 15.5% จะแบ่งผลประโยชน์ในปีนั้นให้ กทพ. 50% ของส่วนเกิน 15.5%
“นอกจากนี้ยังต้องการให้ทาง คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ชุดใหม่โดยเร็ว โดยเสนอขอให้ตั้ง นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานบอร์ด กทพ. เนื่องจากเคยเป็นประธานบอร์ด กทพ.มาก่อน จะเข้าใจปัญหาและขับเคลื่อนการทำงานของ กทพ.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายลาภดี กล่าวในที่สุด