“พาณิชย์” เดินหน้าศึกษาทำ FTA ไทย-ตุรกี หวังใช้เป็นประตูการค้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศบอลข่าน เผยสินค้าไทยได้ประโยชน์เพียบ คาดสรุปได้ภายในปีนี้ ก่อนเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเดินหน้า
นางนิศา ศรีสุวรนันท์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมสำหรับการจัดทำการศึกษาร่วมถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี ครั้งที่ 2 เพื่อติดตามความคืบหน้าถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ระหว่างกัน พบว่าการทำ FTA ไทย-ตุรกีจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และไทยยังสามารถใช้ตุรกีเป็นประตูไปสู่ยุโรปจากการที่ตุรกีเป็นสหภาพศุลกากรเดียวกันกับสหภาพยุโรป (อียู) ขณะที่ตุรกีสามารถใช้ไทยเป็นประตูไปสู่อาเซียน
ทั้งนี้ ไทยได้จ้างมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำการศึกษาร่วมของฝ่ายไทย ส่วนตุรกีได้มอบให้กระทรวงเศรษฐกิจทำการศึกษา โดยผลการศึกษาพบว่า ในแง่การค้าสินค้าไทยจะได้ประโยชน์มากกว่าฝ่ายตุรกี โดยเฉพาะเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการจ้างงาน สินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์ ได้แก่ อาหาร พลาสติก ตู้เย็น ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางและผลิตภัณฑ์ และสิ่งทอ ส่วนสินค้าที่คาดว่าตุรกีจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ หินอ่อน เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ เครื่องนุ่งห่ม ตู้เย็น และยานยนต์
“ทั้งสองฝ่ายต้องศึกษาเกี่ยวกับกฎระเบียบและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าก่อนที่จะสรุปผลการศึกษาในภาพรวมเสนอให้ระดับนโยบายตัดสินใจต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถจัดทำการศึกษาร่วมให้แล้วเสร็จได้ภายในปีนี้” นางนิศากล่าว
นางนิศากล่าวว่า ปัจจุบันตุรกีเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจของไทย โดยเป็นตลาดที่มีโอกาส เนื่องจากมีประชากรมากกว่า 80 ล้านคน และยังเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากมีที่ตั้งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และอดีตสหภาพโซเวียต รวมถึงมีพรมแดนติดต่อกับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไทยจึงสามารถใช้ตุรกีเป็นประตูการค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ เช่น สหภาพยุโรป และยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมทั้งกลุ่มประเทศบอลข่าน
ในปี 2556 ตุรกีเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 39 ของไทย และเป็นอันดับที่ 7 ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จากสถิติการค้าไทย-ตุรกี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2552-2556) ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับตุรกีมาโดยตลอด โดยในปี 2556 ไทยและตุรกีมีมูลค่าการค้าระหว่างกันทั้งสิ้น 1,438.13 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.19 จากปีก่อนหน้า เป็นมูลค่าการส่งออก 1,119.52 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 318.60 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับตุรกี คิดเป็นมูลค่า 800.92 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-เม.ย.) มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับตุรกี คิดเป็นมูลค่า 480.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.13 การส่งออกมีมูลค่า 381.24 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.18 และนำเข้าจากตุรกีมูลค่า 99.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.84 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังตุรกี 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 2. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3. เม็ดพลาสติก 4. ผลิตภัณฑ์ยาง 5. ยางพารา 6. ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ 7. อัญมณีและเครื่องประดับ 8. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 9. เส้นใยประดิษฐ์ และ 10. ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ