xs
xsm
sm
md
lg

“โรงพยาบาลอังกฤษ” ต้องสั่งตู้เย็นไซส์ XXXL แช่ศพ หลังวิกฤตคนอ้วนล้นเกาะผู้ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - แพทย์อังกฤษเตือนวิกฤตปัญหาน้ำหนักเกินในหมู่ชาวอังกฤษอาจสั่นคลอนระบบสาธารณสุขของประเทศ (NHS) เพราะโรงพยาบาลต้องถูกบังคับให้สั่งซื้อ รวมถึงการเช่าอุปกรณ์พิเศษเพื่อบริการผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านน้ำหนัก

ปัญหาโรคอ้วนในอังกฤษนั้นถึงขั้นวิกฤตร้ายแรงที่ทำให้โรงพยาบาลในอังกฤษต้องสั่งซื้ออุปกรณ์ที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อเก็บร่างผู้ป่วยที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพราะตู้แช่เก็บศพในโรงพยาบาลทั่วไปมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับผู้ป่วยที่มีร่างกายใหญ่กว่ามาตรฐาน

นอกจากนี้ยังพบว่า โรงพยาบาลต้องสั่งขยายทางเดินยาวในตึก สั่งซื้อเตียงที่มีขนาดใหญ่และมีความแข็งแรงมากขึ้น และอุปกรณ์ช่วยยกเพื่อตอบรับวิกฤตการหลั่งไหลของผู้ป่วยชาวอังกฤษขนาดไซส์ XXXL ที่เดินผ่านประตูโรงพยาบาลเข้ามา

ทั้งนี้ ตัวเลขที่หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษรายงานพบว่า โรงพยาบาลต้องใช้งบประมาณถึง 5.5 ล้านปอนด์ในตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อปรับตัวในการรักษาผู้ป่วยน้ำหนักเกิน และผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคอ้วนและผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากอาจเพิ่มขึ้นถึงอย่างน้อย 10 ล้านปอนด์ต่อปีเพราะดูเหมือนว่าอังกฤษมีตัวเลขจำนวนผู้มีปัญหากับเส้นรอบเอวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุด

โดยคาดการณ์ว่า 1 ใน 4 ของพลเมืองในวัยผู้ใหญ่ป่วยโรคน้ำหนักเกิน และจำนวนดูเหมือนจะสูงขึ้นมากกว่าครึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมดในอีก 30 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลได้สั่งซื้อเตียงผู้ป่วยขนาดใหญ่พิเศษ เก้าอี้วีลแชร์ และอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตตัวเลขผู้ป่วยน้ำหนักเกินที่เดินทางมารักษาในโรงพยาบาล รายงานเปิดเผยผ่านการร้องขอจากกฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลของอังกฤษFreedom of Information (FOIA)

โรงพยาบาลเขตเยโอวิลภายใต้ NHS (Yeovil District Hospital) ได้ใช้เงินถึง 15,000 ปอนด์ในระบบรักษาความเย็นสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนที่โรงพยาบาลไม่สามารถเก็บในช่องแช่เย็นขนาดปกติ และโรงพยาบาลควีนส์เอลิซาเบธในคิงส์ ลินน์ ต้องใช้งบประมาณถึง 30,000 ดอลลาร์เพื่อสั่งซื้อตู้แช่แข็งสำหรับผู้ป่วยร่างกายใหญ่กว่าปกติในปี 2013 และในปี 2012ได้ใช้เงิน 20,000 ปอนด์เพื่อปรับปรุงห้องผ่าตัดให้แข็งแรงและมีขนาดใหญ่ขึ้น รวมไปถึงโรงพยาบาลดอนแคสเตอร์ แอนด์ แบสเซตลอว์ ภายใต้ NHS (Doncaster and Bassetlaw) ใช้งบประมาณ 80,000 ปอนด์เพื่อขยายโถงทางเดินตามตึกให้กว้างขวางขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนใข้ที่มีร่างกายใหญ่เป็นพิเศษ นอกจากนี้ โรงพยาบาลมิลตัน คีเนส (Milton Keynes) ใช้เงิน65ปอนด์ต่อวันเพื่อเช่าเตียงผู้ป่วยที่มีขนาดใหญ่ที่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 400 กก.

หน่วยงานฟอร์ไซต์ที่ศึกษาปัญหาโรคอ้วนให้กับรัฐบาลอังกฤษออกรายงานว่า มีการคาดการณ์ในปี 2007 ว่า 50% ของพลเมืองอังกฤษจะป่วยเป็นโรคอ้วนก่อนปี 2050 ซึ่งหมายความว่าค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องมือพิเศษ รวมไปถึงการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำหนักเกินคาดว่าจะสูงตามไปด้วย โดยพบว่า NHS ได้ใช้งบประมาณราว 4.7 ล้านปอนด์เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน

นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรงพยาบาลจำนวน 2 ใน 3ที่ตั้งอยู่ในอังกฤษและเวลส์ได้ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเปิดเผยถึงเม็ดเงินที่โรงพยาลาลได้ใช้ไปเพื่อปรับตัวรับกับคลื่นผู้ป่วยน้ำหนักเกินที่เดินทางมาใช้บริการที่โรงพยาบาล

นายแพทย์แมทธิว คาเพฮอร์น (Dr Matthew Capehorn) แพทย์ผู้ชำนาญทั่วไป และผู้อำนวยการคลินิกของสถาบันรอตเธอร์แฮมสำหรับโรคน้ำหนักเกิน (Rotherham Institute for Obesity) กล่าวว่า จำนวนเงิน 5.5 ล้านปอนด์ที่ใช้ไปภายใน 3ปี นั้นต่ำกว่าคาดการณ์มาก “บางโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะมีอุปกรณ์ผ่าตัดเพื่อรักษาโรคไขมันส่วนเกิน หรือมีโซฟาขนาดใหญ่ที่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลขนี้ เช่นค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงทั้งแผนกเพื่อให้สามารถนำเตียงขนาดพิเศษเข้ามาติดตั้งได้ และค่าใช้จ่ายประเภทนี้ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเพราะเรารู้ว่าอังกฤษไม่ได้แม้กระทั่งพยายามที่จะหยุดตัวเลขปัญหาโรคอ้วนในอังกฤษ” คาเพฮอร์กล่าว

นอกจากนี้ยังพบว่า 64% ของพลเมืองผู้ใหญ่ในอังกฤษมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งหมายความว่ามีดัชนีมวลรวมของร่างกาย (BMI) สูงกว่า 25 และ 1 ใน 4 ของพลเมืองผู้ใหญ่ถูกจัดว่าอ้วนมากที่มีค่า BMI สูงกว่า 30 โดยคาเพฮอร์นระบุว่า เป็นเพราะมีจำนวนประชากรอ้วนเป็นจำนวนเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้มีประชากรอังกฤษที่มีร่างกายขนาด XXXL ที่มีค่า BMI สูงกว่า 50 เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลแน่นอน

ใน 12เดือนที่ผ่านมา NHS ใช้งบประมาณไป 2 ล้านปอนด์ในอุปกรณ์เพื่อการรักษาและการปรับตัวเพื่อรองรับโรคอ้วนรวมถึงเตียง รถเข็น เครื่องยก และอีก 1.68 ล้านปอนด์ในปีก่อนหน้านั้น โดยเงินจำนวนมากถูกใช้ไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่ามากกว่าการซื้ออุปกรณ์ ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เงินที่ถูกใช้ไปนั้นอาจสูญเปล่าหาก NHS ยังไม่แก้ปัญหาโรคอ้วนของคนอังกฤษอย่างจริงจัง และพบว่าเมื่อไม่นานมานี้ทุก 1 ใน 10 ของการเสียชีวิตพลเมืองในอังกฤษและเวลส์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอ้วนเพราะการมีน้ำหนักเกินดูเหมือนเป็นสิ่งปกติในสังคมไปแล้ว

ทั้งนี้ งบประมาณของ NHS ที่ควรจะใช้กับการรักษาทางแพทย์เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยกลับต้องมาใช้เพื่อปรับปรุงอุปกรณ์และความพร้อมของโรงพยาบาลในการรับมือกับผู้ป่วยที่มีขนาดร่างกายใหญ่

ด้านโฆษก NHS เผยว่า การตัดสินใจในการใช้งบประมาณของ NHS ในการสั่งซื้ออุปกรณ์เป็นของหัวหน้าระดับสูงใน NHS และผู้อำนวยการโรงพยาบาล


กำลังโหลดความคิดเห็น