xs
xsm
sm
md
lg

ระบบบริการปฐมภูมิ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
มาร์กาเรต ฮิลดา แทตเชอร์ หรือชื่อตามบรรดาศักดิ์ บารอนเนส แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 11 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2533 และเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมถึง 13 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2533 เป็นผู้หญิงคนแรกและคนเดียวจนถึงปัจจุบัน ที่ดำรงทั้งสองตำแหน่งพร้อมกันในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร
สามสมัยในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทตเชอร์ได้สร้างผลงานไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือการปฏิรูประบบสุขภาพในระยะที่สอง
ระบบสุขภาพของอังกฤษดูแลโดยหน่วยงานที่เรียกว่า National Health Service หรือ NHS เป็นผลงานชิ้นสำคัญของพรรคแรงงานในการผลักดันกฎหมาย National Health Service Act ในปี 1946 มีหลักการสำคัญคือการจัดระบบสุขภาพโดยให้บริการฟรีให้กับประชาชนทั้งประเทศโดยไม่คำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจแต่เน้นการตอบสนองต่อความจำเป็นทางสุขภาพ โดยใช้งบประมาณทั้งหมดจากเงินภาษีทั่วไป เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว อังกฤษใช้งบประมาณเพื่อการสาธารณสุขเพียงร้อยละ 6.6 ของ GDP ในขณะที่ยุโรปใช้งบประมาณร้อยละ 8-9 และอเมริกาใช้มากถึงร้อยละ 17 แม้ว่าจะใช้งบประมาณไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มเดียวกันแต่ผลการให้บริการก็เป็นที่น่าพึงพอใจของประชาชน แต่ก็โดนกล่าวหาอย่างต่อเนื่องคล้ายกับประเทศไทยว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับ NHS น้อยเกินไป ข้อกล่าวหาดังกล่าวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนทำให้แทตเชอร์ต้องประกาศให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพอย่างจริงจัง และผลักดันให้มีกฎหมาย National Health Service and Community Care Act ในปี 1990 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการกำหนดให้มีการแยกระหว่างผู้ให้บริการ (คลินิก โรงพยาบาล) ออกจากผู้จัดหาบริการ (NHS) อย่างเด็ดขาด และสนับสนุนให้โรงพยาบาลที่มีความพร้อม ตั้งเป็น NHS Hospital Trust ซึ่งเป็นองค์กรอิสระภายใต้กำกับของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข มีอิสระในการบริหารงานและตัดสินใจในการทำธุรกรรมต่างๆ เช่นกำหนดกรอบบุคลากรตามความเหมาะสม หรือตั้งระดับเงินเดือนเพื่อจูงใจเจ้าหน้าที่ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศอังกฤษเป็น NHS Hospital Trust แล้ว
นอกจากนี้ แทตเชอร์ยังได้เสริมสร้างความเข้มแข็งของ “ระบบบริการปฐมภูมิ” โดยให้อำนาจแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปทำหน้าที่ในการให้บริการปฐมภูมิให้กับประชาชน เมื่อมีจำนวนประชากรที่อยู่ในการดูแลตามที่รัฐกำหนด ก็สามารถขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล และสามารถเลือกทำสัญญาเพื่อส่งต่อผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลกับโรงพยาบาลใดๆก็ได้ที่เห็นว่ามีคุณภาพและเหมาะสมกับประชากรที่รับผิดชอบ
ข้อดีของระบบปฐมภูมิก็คือ ประชาชนจะมีแพทย์ประจำตัวหรือที่เรียกว่า “แพทย์ประจำครอบครัว” ที่เป็นเสมือนญาติสนิท มีข้อมูลส่วนตัว ประวัติการแพ้ยาและประวัติทางการแพทย์ เจ็บไข้ได้ป่วยก็อุ่นใจได้ว่ามีแพทย์ใกล้ตัวที่สามารถขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที หรือถ้าป่วยมากจนเกินกำลัง ก็มีคนช่วยตัดสินใจในการส่งต่อไปรับบริการที่มีศักยภาพสูงกว่า รูปแบบการให้บริการแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องไปแออัดยัดเยียดเพื่อรอรับบริการที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกสบายและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล เช่น ค่ารถ ค่ากินค่าอยู่ โดยไม่จำเป็น
NHS ของอังกฤษ เปรียบได้กับ NHSO(National Health Security Office) หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ของประเทศไทย กฎหมาย National Health Service Act 1946 และ National Health Service and Community Care Act 1990 ของอังกฤษก็คงเทียบได้กับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งมีหลักการสำคัญคือยก “ผู้ให้บริการ” ออกจาก “ผู้จัดหาบริการ” และให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ณ จุดรับบริการ แม้ว่าจะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานเพิ่มขึ้น โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค แต่ยังคงพบปัญหาความแออัดยัดเยียดในโรงพยาบาล การรอคิวรักษานาน และภาระค่าใช้จ่ายอื่นนอกเหนือจากบริการทางการแพทย์
นโยบายข้อหนึ่งของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คือ “การพัฒนาและดำเนินการทศวรรษแห่งการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ โดยเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของประชาชนในการดูแลตนเอง และการมีบุคลากรและแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งในเขตเมือง กทม. และชนบท” โดยมีเป้าหมายระยะสั้นให้มี “ทีมหมอประจำครอบครัว” โดยมีแพทย์โรงพยาบาลชุมชนเป็นที่ปรึกษาในทุกพื้นที่ในวันที่ 1 มกราคม 58 และมีเป้าหมายระยะยาวให้ทุกครอบครัวมีหมอประจำครอบครัวมาดูแลสุขภาพถึงบ้าน หรือสามารถสื่อสารใกล้ชิดกับหมอประจำครอบครัวในเรื่องสุขภาพ การเข้ารับบริการ การส่งต่อ ส่งกลับ หรือการจัดการสุขภาพตนเองที่บ้านได้ภายใน 4 ปี
แม้ว่าจำนวนแพทย์ในประเทศไทยจะน้อยกว่าอังกฤษมาก แต่หมออนามัยของไทยได้รับการพัฒนาศักยภาพมาอย่างต่อเนื่องทำให้ระบบสุขภาพของไทยมีความมั่นคงแล้วในระดับหนึ่ง จากการวางรากฐานและทำงานอย่างต่อเนื่องของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิตามเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ จะช่วยยกระดับระบบสุขภาพจากมือหมอสู่ครัวเรือน ลดปัญหาการรอคิวนาน ลดปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ส่งผลให้ระบบสุขภาพของไทยมีความมั่นคงในระยะยาว
ถึงเวลาที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันแล้วครับ

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น