“อานันท์” ปลุกคนไทยต้านโกง ชี้ต้นตอปัญหาทุจริต คอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในไทยมานานเกิดจากรัฐมีอำนาจบริหารมากเกินไป ไม่มีการยับยั้งหรือคานอำนาจ ทำให้เข้ามาควบคุมหน่วยงานราชการและส่งคนตัวเองมานั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะ ปตท.ที่ถือเป็นถุงเงินถุงทองของนักการเมือง แนวทางแก้ไขต้องไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป ด้าน “บัณฑูร” บิ๊ก ธ.กสิกรไทย เหลืออด จวกรัฐบาลที่ผ่านมาเอาอำนาจรัฐมาเป็นอำนาจตนเอง ด้าน ส.อ.ท.เตรียมจัดประชุมเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติปลายเดือนหน้า
นายอานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาในงานสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการของบริษัทไทย (ไอโอดี) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ว่า ขณะนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างจริงจังในช่วงนี้ ซึ่งทราบกันดีว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวง การโกงกินเป็นโรคร้ายของสังคมไทยมานาน และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น มีทั้งข้าราชการ การเมือง ขณะที่ศีลธรรม จริยธรรมก็ไม่มี
ซึ่งต้นตอของปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในเมืองไทยอยู่ที่ระบบอำนาจการบริหารจัดการ ซึ่งหากปรับโครงสร้างใหม่ โดยการรื้อระบบอำนาจการบริหารจัดการใหม่ ด้วยการให้คานอำนาจกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน อย่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป ก็จะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งทุกวันนี้มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากเพราะรัฐบาลมีอำนาจมากเกินไป ไม่มีการยับยั้ง ไม่มีการคานอำนาจ แต่มีอำนาจควบคุมทั้งหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ มีการส่งคนของตัวเองเข้าไปนั่งตำแหน่งกรรมการเพื่อหาประโยชน์ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นส่วนใหญ่มีประวัติไม่ดี มัวหมอง
โดย ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นถุงเงินถุงทองของนักการเมือง เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่เป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะมีสัดส่วนการถือหุ้นจากภาครัฐ 60-70% มีข้าราชการหากินเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจมาช้านาน หวังว่าภายใน 2-3 สัปดาห์นี้จะมีการเปลี่ยนเปลี่ยนในรัฐวิสาหกิจบางแห่ง
“การแก้ปัญหาทุจริตนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ต้องให้บุคคลมีจิตสำนึกที่ดี ถ้าไม่มีจิตสำนึกที่ดีก็จะเกิดปัญหาไปเรื่อยๆ ซึ่งสมัยผมเป็นนายกรัฐมนตรีเคยบอกว่า หากนายกรัฐมนตรีไม่โกง ไม่ทุจริต และควบคุมรัฐมนตรีไม่ให้รับเงินใต้โต๊ะ ไม่ให้โกง จะทำให้การคอร์รัปชันลดลงได้ถึง 50%” นายอานันท์กล่าว
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารมาอยู่ภายใต้ คสช. ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารงานของ คสช.ก็ทำได้ดี แต่คงต้องดูต่อไป เนื่องจากอนาคตไม่แน่นอน โดย คสช.ควรใช้อำนาจในทางที่ถูก และอย่าหลงอำนาจ แต่ควรต้องหาวิธีแบ่งปันอำนาจ
นายอานันท์ได้เสนอให้ คสช.ตัดงบประมาณการเสนอผลงานของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานในสังกัดรัฐบาล รวมถึงกองทัพออก เพราะเป็นการนำเงินราชการไปสร้างภาพลักษณ์ตัวเอง โดยการไปจ้างสื่อทำการประชาสัมพันธ์ตัวเอง ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นการคอร์รัปชันด้วย เพราะสื่อที่เป็นผู้รับทำให้ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานที่จ้างประชาสัมพันธ์
สำหรับภาคเอกชนนั้น ควรคานอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร กับฝ่ายคณะกรรมการ เพื่อให้เกิดดุลยภาพ โดยทั้งสองฝ่ายกรรมการควรจะรับฟังความคิดของกันและกันเพื่อให้องค์กรเดินหน้าไปอย่างโปร่งใส ซึ่งการสรรหากรรมการควรเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ใช่เลือกมาจากพวกพ้องตัวเอง ควรเชิญคนนอกมาร่วมเป็นกรรมการ และให้ความสำคัญในการฟังความคิดเห็นด้วย รวมทั้งบริษัทห้างร้านควรมีการเสียภาษีที่ถูกต้อง มีบัญชีเดียว
ด้านนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชนเป็นผู้แบกประเทศไทยอยู่ ที่ผ่านมาเอกชนดำเนินการอยู่ภายใต้ธรรมาภิบาล (CG) แต่ที่ตนเป็นห่วงคือภาครัฐ ถ้าเอาหลักเกณฑ์ CG มาวัดก็คงไม่ผ่านอะไรเลย โดยรัฐบาลชุดที่ผ่านมาอ้างว่ามาจากประชาชน มาจากการเลือกตั้ง นำเงินประชาชนไปใช้เสียหายแต่ไม่ต้องตอบคำถามประชาชนเลย
ดังนั้นนับจากนี้ไป ผู้นำภาคเอกชนอย่าสุภาพมากนัก ควรโต้กลับไปบ้าง ถ้าถามภาครัฐแล้วไม่ได้คำตอบ หรือตอบไม่ดี ที่ผ่านมารัฐบาลมีการใช้อำนาจรัฐในการเลือกหรือแต่งตั้งคนขึ้นมา เช่น ปลัด ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือทูต เหมือน “เอาเท้าลูบหน้าประชาชนคนไทย” โดยเอาอำนาจรัฐมาเป็นอำนาจตัวเอง
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.เตรียมจัดประชุมเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติภายใต้งาน Thailand is Back ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ โดยจะเชิญซีอีโอบริษัทต่างชาติในไทย รวมทั้งหอการค้าต่างประเทศเข้าร่วมงาน คาดว่าจะมีผู้เข้างานครั้งนี้ 300-500 คน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา อีกทั้งยังช่วยประชาสัมพันธ์ไปต่างประเทศด้วย
ส่วนกรณีที่อียูประกาศระงับการเดินทางเยือนของเจ้าหน้าที่ทั้งอียูและไทยอย่างเป็นทางการ รวมทั้งยกเลิกการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนกับไทยนั้นมองว่าเป็นการเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เนื่องจากการทำ FTA เป็นการทำข้อตกลงที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ขณะเดียวกันการทำการค้าของภาคเอกชนไทยกับประเทศคู่ค้าก็ยังดำเนินการได้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้ คสช.มีที่ปรึกษาเศรษฐกิจอยู่แล้ว ก็คงมีการชี้แจงให้อียูเข้าใจต่อไป
“วันนี้ยังไม่มีผลกระทบออกมาให้เห็น มีเพียงผลกระทบด้านจิตวิทยา ขึ้นอยู่กับภาคเอกชนไทยที่จะต้องเจรจากับบริษัทคู่ค้าเพื่อทำความเข้าใจ และเมื่อมีรัฐบาลใหม่ที่จัดตั้งขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้าก็คงต้องเจรจากับอียูเพื่อทบทวนท่าทีอีกครั้ง”