กทพ.เตรียมปัดฝุ่นทางด่วนขั้นที่ 3 (N1, 2, 3) เสนอ คสช.ทบทวนก่อสร้าง ชี้เป็นโครงการที่จำเป็นช่วยแก้ปัญหาจราจร กทม.จากตะวันตก-ตะวันออก มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ยืนยันปรับแบบให้มีผลกระทบน้อยที่สุดได้ “อัยยณัฐ” เผยแผนรับ AEC สร้างโครงข่ายทางด่วนเพิ่มอีก 300 กม. ทั้งต่อขยายไปยังภูมิภาคและด่วนข้ามแดน พร้อมลงทุนทุกรูปแบบ
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทพ.จะมีการทบทวนการดำเนินโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N1, 2, 3 เพื่อนำกลับขึ้นมาดำเนินการใหม่ ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านี้ ที่มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายให้ชะลอโครงการเนื่องจากเห็นว่า ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการแก้ปัญหาในหลายด้าน ซึ่งปัญหาจราจรเป็นเรื่องที่สำคัญจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะนำเสนอโครงการอีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาการจราจรด้านเหนือที่ยังไม่มีโครงข่ายทางด่วนเชื่อมจากแนวตะวันตก-ตะวันออก ทำให้ปัจจุบันถนนงามวงศ์วาน ถนนรัตนาธิเบศร์ และถนนเกษตรนวมินทร์ ติดขัดอย่างมาก
“ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือถือว่ามีประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมากและมีการศึกษามาเกือบ 20 ปีแล้ว โดย กทพ.ลงทุนก่อสร้างตอม่อไปแล้วและปรับไปทำเป็นรถไฟฟ้าไม่ได้เพราะผิดวัตถุประสงค์ในการเวนคืนอาจจะถูกฟ้องร้องได้ แต่ในภาวะปกติการดำเนินโครงการมีข้อติดขัด แต่ขณะนี้เป็นภาวะพิเศษก็เห็นโอกาส โดยหลักการรูปแบบจะเป็นไปตามการศึกษาเดิมแต่จะมีการปรับแก้ในบางจุดเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มีน้อยที่สุด โดยจะแบ่งดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือช่วง N1 อาจจะต้องปรับปรุงจุดที่มีผลกระทบ ทั้งต่อชุมชนและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจะลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบเพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทันทีที่มีการแต่งตั้งประธาน เพื่อขอความเห็นชอบก่อนนำเสนอกระทรวงคนนาคมเพื่อเสนอ คสช.พิจารณาต่อไป” นายอัยยณัฐกล่าว
สำหรับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1, 2, 3) ระยะทาง 42.9 กม. รองรับปริมาณจราจร East-West Corridoor ของกรุงเทพฯ ช่วง N1 (ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตก บริเวณแยกบางใหญ่-แยกเกษตรศาสตร์) ระยะทาง 19.2 กม. ถูกมหาวิทยาลัยเกษตรฯ คัดค้าน ช่วง N2 (แยกเกษตรฯ-ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนนวมินทร์) ระยะทาง 9.2 กม. และช่วง N3 (นวมินทร์-ถนนเสรีไท-ถนนรามคำแหง สิ้นสุดที่ถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ บริเวณถนนศรีนครินทร์) ระยะทาง 11.5 กม.
นายอัยยณัฐกล่าวว่า กทพ.มีแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษเพื่อรองรับการเปิด AEC 2 ส่วน คือ 1. การพัฒนาต่อขยายโครงข่ายที่มี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม เช่น โครงการทางพิเศษพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 16.923 กม. ศึกษาเสร็จแล้วจะเสนอ คสช.พิจารณาเป็นโครงการเร่งด่วน 2. โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง (อุโมงค์ภูเก็ต) ระยะทาง 3.9 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 8.37 พันล้านบาท คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้ในต้นปี 58
3. ทางพิเศษอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 35 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท ศึกษาเสร็จต้นปี 58 ช่วยสนับสนุนด้านลอจิสติกส์ การขนส่งสินค้า ระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง-นิคมอุตสาหกรรมที่อยุธยาให้สะดวกมากขึ้น ช่วยลดเวลาและต้นทุน 4. ทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ระยะทางประมาณ 61 กม. ผลการศึกษาเสร็จกลางปี 58 และ 5. ทางพิเศษฉลองรัฐ ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก-สระบุรี ระยะทาง 63 กม. รองรับการเดินทางจากภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษา
ทาวพิเศษเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน 4 จุด ที่ด่านแม่สอด แม่สาย มุกดาหาร และสะเดา ระยะทางจุดละ 4-5 กม. มีบริการครบวงจร (one stop service) ทั้งภาษี การข้ามแดน ค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยใช้ระบบ Easy Pass ในการเก็บค่าผ่านทาง ช่วยอำนวยความสะดวกให้รถขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นผ่านแดนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบัน กทพ.มีทางด่วนระยะทาง 200 กม. หากโครงการใหม่ระยะทางรวมกว่า 300 กม.ดำเนินการแล้วเสร็จ โครงข่ายจะสมบูรณ์แก้ปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืน โดย กทพ.สามารถลงทุนเองโดยกู้มาดำเนินการหรือให้เอกชนลงทุนในรูปแบบ PPP คาดว่าตั้งแต่ปี 59 กทพ.ไม่จำเป็นต้องของบประมาณรัฐบาล เพราะสามารถใช้รายได้มาดำเนินงานได้เพียงพอ