“สนพ.” มอบหมายให้ “กฟผ.” จัดทำแผนสำรองกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่เป็นไปตามแผนหรือเกิดไม่ได้ หวั่นกระทบความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ปี 2562 แย้มอาจใช้ก๊าซฯ เสียบแทนหรือให้กระจายโรงไฟฟ้าตามเกาะ เช่น ภูเก็ต สมุย อ้อนคนใต้ร่วมลดใช้ไฟป้องไฟดับรับ JDA หยุดจ่ายก๊าซฯ
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่นิ่ง จึงทำให้การปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP ฉบับใหม่จะเน้นการดูแลความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ก่อนเนื่องจากปริมาณไฟภาคใต้ไม่พอต่อความต้องการใช้ โดยได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปพิจารณาแนวทางการเตรียมแผนรับมือ โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดเข้าระบบปลายปี 2562 ไม่เป็นไปตามแผน
“PDP ที่จะจัดทำใหม่คงไม่ต้องรีบอะไร รอให้ตัวเลขเศรษฐกิจนิ่งก่อนได้เพราะสำรองไฟฟ้ายังมีอยู่พอ แต่มีเพียงส่วนของภาคใต้ที่ตามแผนเดิมจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่เข้ามาเสริมความมั่นคงระยะยาว ซึ่งหากล่าช้ากว่าแผนหรือไม่สามารถเกิดได้ก็ต้องมีแผนรองรับ ซึ่งอาจจะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขึ้นที่ จ.กระบี่แทนได้ไหมแล้วใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีผลต่อค่าไฟที่แพงกว่า หรืออาจจะให้เกิดโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดเล็กตามเกาะ เช่น สมุย ภูเก็ต แทน โดยอาจเปิดให้เอกชนเสนอก็ได้ซึ่ง กฟผ.คงจะต้องไปคิดมา” นายเสมอใจกล่าว
สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือการหยุดซ่อมท่อก๊าซฯ ไทย-มาเลเซีย หรือ JDA (A-18) ระหว่าง 13 มิ.ย.-10 ก.ค. 57 รวม 28 วัน แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสูงสุดภาคใต้ (พีก)อยู่ที่ 2,543 เมกะวัตต์ ขณะที่การผลิตมี 2,115 เมกะวัตต์ แต่ได้ส่งไฟจากภาคกลางลงมาเสริม 700 เมกะวัตต์ รวมเป็น 2,858 เมกะวัตต์ แต่เมื่อ JDA หยุดกระทบโรงไฟฟ้าจะนะ หายไป 700 เมกะวัตต์ ไฟจะขาดอยู่ประมาณ 385 เมกะวัตต์ ดังนั้นได้มีการประสานให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจในการหยุดจ่ายไฟฟ้าด้วยความสมัครใจ (demand response) ประมาณ 200-300 เมกะวัตต์เพื่อป้องกันไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดไฟดับ
อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้พลังงานจังหวัดร่วมกับพื้นที่รณรงค์ให้บ้านที่อยู่อาศัยร่วมลดใช้ไฟในช่วงดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะช่วงพีก 18.00-22.00 น. เพื่อที่จะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งมาถึงขณะนี้เชื่อมั่นได้ระดับ 70-80% ว่าจะไม่เกิดไฟฟ้าดับวงกว้าง (blackout) เช่นที่ผ่านมา เพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยจริงได้กำหนดแผนดับไฟเป็นบางพื้นที่ใน 19 จุดไว้แล้ว โดยสถานที่สำคัญจะไม่ให้เกิดไฟดับ เช่น โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ 3 จังหวัดใต้ เป็นต้น
“ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการลงพื้นที่ทำงานร่วมกันใกล้ชิด ดูแลทั้งด้านปริมาณไฟที่จะดึงเข้ามาเสริมในที่ต่างๆ เพิ่ม สายส่งไฟฟ้าที่จะต้องเตรียมพร้อม รวมถึงการดึงไฟกลับมาจากมาเลเซียเพื่อเสริมระบบหากจำเป็นในช่วงสั้นๆ” นายเสมอใจกล่าว