กระบี่ - กฟผ.เสวนาสื่อมวลชน และ อป.มช. จ.กระบี่ สร้างความเข้าใจ เหตุจำเป็นสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ระบุทุกปีความต้องการใช้ไฟเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เผย 23 เมษายนที่ผ่านมา มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 26,942.1 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 344 เมกะวัตต์
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (24 เม.ย.) ที่โรงแรมบุญสยาม จ.กระบี่ นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศ และความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ และชี้แจงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสื่อมวลชน และอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน (อป.มช.) โดยมีนายอดุลย์ เป็งถา หัวหน้าโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ผู้แทนฝ่ายปฏิบัติการโรงไฟฟ้าภาคใต้ เข้าร่วม
นายธาตรี กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้เพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ และชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดของ กฟผ.เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 4-5 ต่อปี โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ของทุกปี จากข้อมูลครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้ (23 เมษายน 2557) พบว่าสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ปริมาณการใช้ฟ้าในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นจนทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2556 คือ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 มีปริมาณ การใช้ไฟฟ้า จำนวน 26,598.1 เมกะวัตต์ แต่เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 26,942.1 เมกะวัตต์ ปริมาณเพิ่มขึ้น 344 เมกะวัตต์ หรือ 50% ของกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น และทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุการใช้งาน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบน้อยกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ จึงต้องมีการส่งไฟฟ้าจากภาคกกลาง เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความสมดุล และในอนาคตความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมีการขายตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการหยุดซ่อมท่อก๊าซ JDA ในระหว่างวันที่ 13 มิ.ย.57-10 ก.ค.57 ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าจะนะ กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ หายไปทันที ขณะความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้อยู่ที่ 2,543 เมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตในพื้นที่มี 2,300 เมกะวัตต์ จะทำให้ไฟฟ้าขาดแคลนในช่วงพีก ตอนช่วงค่ำถึง 200 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อเหตุไฟฟ้าดับในพื้นที่ภาคใต้
เมื่อคำนึงถึงความมั่นคง และความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าที่ต้องมีความพร้อมในการจ่ายไฟฟ้า จึงต้องมีการพิจารณาหาแหล่งผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการใช้ไฟอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งพาการส่งพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ ซึ่งจังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความเหมาะสม โดยปัจจุบัน กฟผ.อยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดกระบี่ ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ โดยใช้ถ่านหินคุณภาพดีจากต่างประเทศ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยปัจจุบันเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพจนสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และควบคุมมลพิษได้ดีกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด
นายอดุลย์ เป็งถา หัวหน้าโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า หลังจากที่ กฟผ.ได้เปิดเวทีรับความคิดเห็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน ค.1 ซึ่งก็ได้นำข้อกังวลของประชาชนเสนอผู้บริหารเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขแล้ว และได้เตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2 หรือ ค.2 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน-พฤษภาคม 57 จะเน้นกลุ่มเป้าหมายบริเวณพื้นที่ อ.เหนือคลอง และ อ.เกาะลันตา ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบสูงสุด เพื่อสอบถามความคิดเห็น และนำข้อกังวลบนเวที ค.1 ไปชี้แจงทำความเข้าใจด้วย