xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.มึนต้องรอรัฐบาลใหม่ไฟเขียวแม่เมาะ หวั่นกระทบล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กฟผ.เพลีย หวังยื่น กกต.ขอเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 600เมกะวัตต์ ล่าสุดทำไม่ได้ต้องรอรัฐบาลใหม่อนุมัติ ผวากระทบก่อสร้างไม่ทันปีนี้ทำให้อาจเสร็จล่าช้าจากแผนปี 2561 กระทบต้นทุนเพิ่ม 5,000 ล้านบาทต่อปี เผยงานท้าทายรักษาระดับค่าไฟไม่ให้แพงขึ้นระยะยาว ชูถ่านหินช่วยพยุง

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในโอกาส กฟผ.ครบรอบ 45 ปีว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ทดแทนชุดที่ 4-7 ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ล่าสุดต้องรอรัฐบาลใหม่พิจารณาอนุมัติโครงการ เนื่องจากตามกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการไม่สามารถอนุมัติโครงการที่มีผลผูกพันกับรัฐบาลใหม่ได้ ดังนั้นโครงการดังกล่าวเดิมเป้าหมายจะแล้วเสร็จปี 2561 หากการเมืองยังไม่มีข้อยุติปีนี้คงจะต้องล่าช้าออกไปจากแผนซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อต้นทุนการผลิตให้สูงเพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปีโดยส่วนนี้ก็จะกลับไปสะท้อนยังค่าไฟฟ้าในอนาคตได้

“เดิมเราเองคิดว่าจะเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ได้ แต่เมื่อไม่ได้ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ ซึ่งโครงการนี้เดิมจะต้องเสร็จปี 2561 จึงควรก่อสร้างเร็วสุดปีนี้และช้าสุดต้นปีหน้าเพราะการก่อสร้างต้องใช้เวลา 4 ปี แต่เมื่อต้องรอรัฐบาลใหม่เราเองก็ไม่รู้เมื่อไหร่ก็คงต้องช้าออกไปก็จะต้องไปพึ่งเชื้อเพลิงอื่น เช่น ก๊าซธรรมชาติ ที่มีราคาแพงกว่าถ่านหิน” ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว

นายสุนชัยกล่าวว่า ปีนี้ กฟผ.ดำเนินกิจการมาครบรอบ 45 ปี ได้รับการยอมรับว่าด้านประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และอนาคต กฟผ.ตั้งเป้าที่จะเป็นองค์กรชั้นนำในกิจการไฟฟ้าในระดับต้นๆ ของโลก ซึ่งยอมรับว่าการรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ท้าทายของ กฟผ. ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการกระจายเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันพึ่งพิงก๊าซฯ มากถึง 70% ซึ่งแนวโน้มราคาน้ำมันและก๊าซฯ มีทิศทางที่จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ถ่านหิน และนิวเคลียร์จึงเป็นเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าที่ไทยเองมีความจำเป็นจะต้องพึ่งพิงในระยะยาวหากต้องการต้นทุนผลิตที่ต่ำและดูแลสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะถ่านหินที่ขณะนี้มีเทคโนโลยีที่สะอาดสามารถแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้แต่ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชน โดยในส่วนของพลังงานทดแทนอื่นๆ ทั้งแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ฯลฯ ไทยเองก็มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นอนาคต กฟผ.ก็จะเดินไปตามแนวทางของเยอรมนีที่มีการพัฒนาพลังงานทดแทน แต่ก็มีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฐานไปด้วย

ปัจจุบัน กฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 33,680 เมกะวัตต์ โดย กฟผ.มีกำลังผลิตทั้งสิ้น 15,010 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นการผลิตจากภาคเอกชนรายใหญ่ รายเล็ก และรับซื้อจากต่างประเทศอีก 18,670 เมกะวัตต์ และยังเป็นผู้ดูแลสายส่งขนาดแรงดัน 230-500 เควีทั่วประเทศ รวมความยาวทั้งสิ้น 32,384 วงจรกิโลเมตร โดยโรงไฟฟ้าใหม่ที่เข้าระบบปีนี้คือ โรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 และโรงไฟฟ้าจะนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น