xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ผวาใช้ไฟต่ำ ลุ้นปี 57 โต 3%-ส่งสัญญาณค่าไฟงวดใหม่ส่อขยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” ลุ้นปี 2557 การใช้ไฟโต 3% หลังปีที่แล้วโตแค่ 0.1% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อเนื่อง เริ่มกังวลปี 2562 การจัดหาไฟจะมากกว่าดีมานด์ พร้อมแย้มค่าไฟงวดใหม่ส่อแววขยับตามต้นทุนเชื้อเพลิง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ขณะที่แผนงานทั้งอินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ พีดีพีใหม่ สายส่งไปใต้ รอรัฐบาลใหม่เคาะ

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า หากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2557 โต 4% กฟผ.ประมาณการการใช้ไฟจะเติบโต 3% จากปีที่แล้ว หรือจะมีการใช้ประมาณ 1.8 แสนล้านหน่วย โดยยอมรับว่าการใช้ไฟในปี 2556 ที่ผ่านมาโตเพียง 0.1% เท่านั้นหรือมีการใช้ที่ระดับ 1.7 แสนล้านหน่วยจากเป้าหมายที่วางไว้จะโต 2% ซึ่งผลมาจากอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติ และภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ส่งผลกระทบ

“เฉพาะเดือน ธ.ค. 56 การใช้ติดลบ 10% ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะอากาศเย็น โดยอุณหภูมิปี 2556 เฉลี่ยต่ำกว่าปี 2555 ถึง 4 องศาเซลเซียส แต่การใช้ก็ยังถือว่าไม่ได้ต่ำหากเทียบกับปีน้ำท่วมปี 2554 ที่การใช้ไฟติดลบ 1.86% ซึ่งยอมรับว่าเราเองก็เป็นห่วงหากเศรษฐกิจไม่โตตามที่คาดไว้เฉลี่ย 4% ต่อปีมีผลให้ใช้ไฟต่ำต่อไปอีก ก็จะมีผลให้ปี 2562 ตามแผนพัฒนาระบบกำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ปัจจุบันอาจมีผลให้การผลิตไฟสูงกว่าความต้องการได้เพราะปีดังกล่าวจะมีโรงไฟฟ้าเข้าระบบใหม่จำนวนมาก” นายสุนชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ปี 2556 เฉลี่ยขยับเพิ่มขึ้น 5 สตางค์ต่อหน่วย โดยปี 2557 ในงวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 57) คงจะต้องติดตามปัจจัยสำคัญคือ ราคาเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินซึ่งหากอ่อนค่าทุก 1 บาทต่อเหรียญสหรัฐจะมีผลต่อค่าเอฟที 5-6 สตางค์ต่อหน่วย รวมถึงปริมาณการใช้ไฟภาพรวมด้วย ซึ่งยอมรับว่ามีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นแต่จะมากน้อยอย่างไรก็อยู่ที่การบริหารจัดการด้วย ซึ่ง กฟผ.เองก็ต้องบริหารให้กระทบต่อค่าไฟต่ำสุด

สำหรับโครงการสำคัญของ กฟผ.ที่ยังจำเป็นจะต้องรอการตัดสินใจจากรัฐบาลใหม่ ได้แก่ การระดมเงินผ่านกองทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์) 1.7 หมื่นล้านบาทที่ตามแผนจะนำเงินมาสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 ซึ่งตามแผนคาดว่าจะสามารถระดมทุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของได้ราวเดือน ก.ค.-ส.ค. 57 ก็คงจะต้องรอเสนอคลังและ ครม.อีกครั้ง แต่ภาพรวมแม้ว่าจะล่าช้าออกไปก็ไม่ได้กระทบต่อฐานะการเงินของ กฟผ.ทั้งในปี 2557 และปี 2558 เพราะ กฟผ.มีกำไรสะสม และส่วนหนึ่งอาจสามารถออกพันธบัตรได้

ส่วนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ฉบับใหม่ก็จะต้องรอ ครม.เช่นกัน แต่หลักการคงจะไม่เปลี่ยนแปลงที่จะกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเพิ่ม พลังงานทดแทนทั้งจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล การซื้อไฟจากต่างประเทศ ฯลฯ การลงทุนระบบสายส่ง 500 เควีไปภาคใต้ลงทุน 6 หมื่นล้านบาทที่ขณะนี้รอเสนอ ครม.เช่นกัน ซึ่งคงรอได้ยกเว้นโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 4-7 ลงทุน 2.8 หมื่นล้านบาทที่ไม่สามารถล่าช้าไปกว่าแผนได้ เพราะจะกระทบความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคเหนือได้ มีการเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ให้พิจารณาแล้ว เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น