xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มค่าไฟ พ.ค.จ่อขยับอีก รอเรกูเลเตอร์เคาะตัวเลข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” เผยแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) ยังคงมีทิศทางปรับขึ้นแต่จะมากน้อยเพียงใดอยู่ที่การหารือและเคาะต้นทุนจากเรกูเลเตอร์ ซึ่งคาดว่าจะเร่งสรุปภายใน เม.ย.นี้ ปัจจัยหลักยังคงเป็นค่าเงินบาทที่อ่อนค่า การใช้ไฟที่ลดต่ำกว่าประมาณการ แถมผลิตไฟจากน้ำก็ลดลง ย้ำไทยต้องพึ่งไฟจากถ่านหินเสริมมั่นคงค่าไฟในอนาคต เหตุแอลเอ็นจีจะดันค่าไฟเพิ่ม

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ (เอฟที) รอบใหม่เดือน พ.ค.-ส.ค. 57 คาดว่าภายในเดือน เม.ย.นี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) จะมีการพิจารณาต้นทุนเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยอมรับว่าค่าเอฟทีมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก แต่จะมากน้อยเพียงใดอยู่ที่การพิจารณาความเหมาะสมของเรกูเลเตอร์ ทั้งปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ได้แก่ 1. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับงวดที่ผ่านมา เพราะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง 1 บาทต่อเหรียญสหรัฐอเมริกาจะกระทบต่อเอฟทีขึ้นประมาณ 5-6 สตางค์ต่อหน่วย 2. การใช้ไฟฟ้าที่ต่ำกว่าประมาณการที่เคยคาดไว้ โดยการใช้ไฟ 3 เดือนที่ผ่านมาลดลง 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งทำให้ต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้น และ 3. การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนแนวโน้มจะลดลงจากช่วง 4 เดือนแรก เนื่องจากช่วง พ.ค.นี้เป็นช่วงที่ต้องกักเก็บน้ำไว้สำรองในช่วงฤดูฝน

“ช่วง 4 เดือนแรกมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อการเกษตรทำให้สามารถผลิตไฟจากน้ำซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมาเฉลี่ยต้นทุนรวมได้ระดับหนึ่ง แต่ยอมรับว่าช่วง พ.ค.นี้เป็นปกติช่วงฤดูฝนที่เราจะต้องกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้การผลิตไฟจากน้ำก็จะลดต่ำลง ซึ่ง กฟผ.เองก็กำลังคิดว่าจะรับซื้อไฟพลังน้ำจาก สปป.ลาวเข้ามาเสริมก็จะช่วยทำให้ค่าไฟถูกลง” นายสุนชัยกล่าว

นายสุนชัยกล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงการผลิตสูงถึง 70% ซึ่งแนวโน้มก๊าซธรรมชาติที่ใช้ก็จะต้องพึ่งพิงจากการนำเข้าในรูปของเหลวหรือแอลเอ็นจีซึ่งมีราคาสูงกว่าก๊าซฯ ในแหล่งอ่าวไทย โดยการผลิตไฟจากก๊าซฯ ผสมกับแอลเอ็นจีต้นทุนอยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นผลจากการใช้แอลเอ็นจีที่เพิ่มขึ้นและอนาคตหากใช้มากขึ้นย่อมกระทบต่อต้นทุนที่สูงขึ้นอีก ขณะที่การผลิตไฟจากถ่านหินราคาที่รับซื้ออยู่ที่ 2.50 บาทต่อหน่วย ดังนั้นหากต้องการรักษาระดับค่าไฟไม่ให้สูงการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะเป็นทางเลือกที่จำเป็นของไทย

“เราต้องยอมรับว่าพลังงานทดแทนไทยเองก็ทำมาและสามารถพึ่งพาได้ระดับบหนึ่งแต่ไม่อาจทดแทนกับความต้องการได้ทั้งหมด และพลังงานทดแทนเวลาแสงอาทิตย์ไม่มี ลมไม่มาก็ไม่มีความมั่นคง ก๊าซฯ เราเองก็พึ่งมากเกินไปเมื่อระบบท่อมีปัญหาก็กระทบ จะเห็นว่าเวลาก๊าซฯ หยุดจ่ายเราหันไปเดินเครื่องด้วยน้ำมันเตา ขณะนี้ต้นทุนแทบไม่ต่างจากเดินเครื่องด้วยดีเซลคือ 6-7 บาทต่อหน่วย เราต้องหาเชื้อเพลิงอื่นที่มั่นคงมาเสริม ซึ่งระยะสั้นคำตอบน่าจะอยู่ที่ถ่านหิน” นายสุนชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น