xs
xsm
sm
md
lg

“กฟผ.” รอลุ้นคำสั่งตรึงค่าไฟงวดใหม่ ยอดใช้ไฟ 7 เดือนเริ่มโตสัญญาณ ศก.ฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” โยนการตรึงค่าไฟฟ้างวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 57) อยู่ที่นโยบายภาครัฐเป็นสำคัญ แต่ยอมรับว่างวดที่ผ่านมาก็แบกภาระอยู่หากจะให้แบกต่อต้องคำนึงสภาพคล่องด้วย โดยค่าไฟงวดใหม่ปัจจัยลบการผลิตไฟจากเขื่อนต่ำเพราะน้ำน้อยกว่าปกติ ขณะที่การใช้ไฟ 7 เดือนเริ่มบวกบ่งชี้สัญญาณ ศก.เริ่มฟื้น ทั้งปีคาดโตได้ 2%
 

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า แนวโน้มราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2557 ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุว่าจะขึ้นหรือลงเพราะจะต้องติดตามต้นทุนค่าไฟในงวดที่ผ่านมาว่าครอบคลุมกับที่เรียกเก็บหรือไม่ รวมถึงต้องติดตามราคาน้ำมันที่จะสะท้อนไปยังราคาก๊าซธรรมชาติย้อนหลัง 6 เดือน รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข่าวว่าอาจจะตรึงค่าไฟฟ้างวดใหม่เพื่อดูแลเศรษฐกิจก็คงต้องรอระดับนโยบายตัดสิน

“การตรึงค่าไฟฟ้าอยู่ที่นโยบายจากภาครัฐ โดยเฉพาะเรกูเลเตอร์และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าเห็นควรอย่างไร หากตรึงค่าเอฟทีก็จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการตรึงราคาเชื้อเพลิงทั้งก๊าซและน้ำมันเป็นหลักด้วย โดยปัจจุบัน กฟผ.รับภาระตรึงค่าไฟฟ้าในหลายงวดที่ผ่านมา 2,000-3,000 ล้านบาทที่ค้างอยู่ ถ้าตรึงต่อก็ต้องดูถึงสภาพคล่องเพราะ กฟผ.ควรมีกระแสเงินสดไว้บริหารอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท” นายสุนชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้างวดใหม่มีปัจจัยลบคือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำจาก 2 เขื่อนหลักที่มีต้นทุนต่ำคือ เขื่อนสิริกิติ์ และภูมิพล ซึ่งมีสัดส่วนปริมาณน้ำเฉลี่ย 30% ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเกณฑ์ปกติทำให้การปล่อยน้ำลดต่ำการผลิตไฟฟ้าจากส่วนนี้จึงได้ลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ปี 2558 ต้นทุนค่าไฟจะเฉลี่ยต่ำลงเนื่องจากจะมีการรับซื้อไฟเข้าระบบจากโครงการหงสาลิกไนต์ประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ซึ่งผลิตจากถ่านหินทำให้มีต้นทุนต่ำ

สำหรับภาพรวมการใช้ไฟฟ้าช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปี 2556 พบว่าปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหากเทียบกับช่วงต้นปีที่ติดลบและเคยติดลบสูงสุดถึง 5% โดยเดือน มิ.ย. และ ก.ค.เริ่มขยายตัวซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ดังนั้นคาดว่าทั้งปีการใช้ไฟน่าจะเติบโตในระดับ 2%

นายสุนชัยยังกล่าวถึงการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ฉบับใหม่ ว่า วันที่ 15 ส.ค.จะมีการเสนอกรอบเข้าสู่การพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยหลักการแล้ว กฟผ.จะมีส่วนเสนอแนะความเห็นซึ่งยังคงต้องการให้ กฟผ.คงสัดส่วนการผลิตไฟทั้งหมด 50% ของแผนเพื่อความมั่นคงของประเทศ มีการกระจายเชื้อเพลิงโดยการคำนึงถึงพลังงานทดแทนที่เป็นไปได้เพื่อบริหารต้นทุนค่าไฟเฉลี่ยไม่ให้สูง ส่วนกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นคงจะต้องอยู่ที่นโยบายว่าจะคงอยู่ในปลายแผนเหมือนเดิมหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น