xs
xsm
sm
md
lg

ทล.เลิกผ่อนผันน้ำหนักบรรทุก ยึดกฎหมายกำหนด 50.5 ตัน ดีเดย์ 1 ก.ค. 57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ  อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)
กรมทางหลวงประกาศน้ำหนักรถบรรทุกตั้งแต่ 6 เพลา 20 ล้อขึ้นไปต้องบรรทุกไม่เกิน 50.5 ตัน ตั้งแต่ 1 ก.ค. 57 เป็นต้นไป หลังจากผ่อนผันให้บรรทุกถึง 58 ตันมาก่อนหน้านี้ ชี้ผลศึกษาพบปัญหา บรรทุกเกินทำถนนพังเร็วจากอายุใช้งานเฉลี่ย 15 ปี สิ้นเปลืองงบซ่อมบำรุงกว่า 1.6 แสนล้าน “อธิบดีกรมทางหลวง” ชี้ถนนไทยคุณภาพดีช่วยลดต้นทุนขนส่งไทย เพิ่มขีดการแข่งขันรับ AEC  

นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงใช้ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน และผู้อำนวยการทางหลวงสัมปทาน เรื่อง ห้ามให้ยานพาหนะที่มีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2556 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 โดยให้รถพ่วง 6 เพลา 20 ล้อ ให้มีน้ำหนักรถบรรทุกไม่เกิน 52 ตัน รถพ่วง 6 เพลา 22 ล้อ ให้มีน้ำหนักรถบรรทุกไม่เกิน 53 ตัน และรถพ่วง 7 เพลา 24 ล้อ ให้มีน้ำหนักรถบรรทุกไม่เกิน 58 ตัน นั้น 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไปได้กำหนดให้รถพ่วงทั้ง 3 ประเภทมีน้ำหนักรถบรรทุกไม่เกิน 50.5 ตัน ซึ่งการกำหนดใช้พิกัดน้ำหนักรถบรรทุกดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ทำการศึกษาพิกัดน้ำหนักบรรทุกที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นที่ปรึกษา โดยพิจารณาทั้งในด้านวิศวกรรมโครงสร้างถนน ด้านวิศวกรรมโครงสร้างสะพาน ด้านวิศวกรรมยานยนต์ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านลอจิสติกส์ และด้านการบังคับใช้กฎหมาย 

ซึ่งผลการศึกษาโครงการดังกล่าวสรุปได้ว่าควรกำหนดพิกัดน้ำหนักรถบรรทุกตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน และผู้อำนวยการทางหลวงสัมปทาน พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2552 (50.5 ตัน) เนื่องจากน้ำหนักบรรทุก 50.5 ตัน ก็มีค่าพิกัดน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยในการรับน้ำหนักของถนนที่ออกแบบไว้อยู่แล้ว หากมีการเพิ่มน้ำหนักบรรทุกพ่วงของทั้งขบวนเป็น 58 ตัน จะทำให้อัตราส่วนความปลอดภัยของถนนและสะพานลดลงจากมาตรฐานการออกแบบไว้ ประกอบกับปริมาณการจราจรของรถบรรทุกที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้ ก็จะทำให้อายุการใช้งานของถนนและสะพานสั้นลงไปอีก 

โดยหากต้องการให้ถนนและสะพานมีอัตราส่วนความปลอดภัยและมีอายุการใช้งานตามที่ออกแบบไว้ (ตลอด 15 ปี) ก็จะต้องมีการซ่อมบำรุงหรือปรับปรุง โดยภาครัฐจะต้องลงทุนเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 160,000 ล้านบาทตลอดระยะเวลา 15 ปี ซึ่งยังไม่รวมงบประมาณเบื้องต้นที่จะต้องปรับปรุงสภาพถนนและสะพานในปัจจุบันอีกกว่า 856,000 ล้านบาท และการเพิ่มน้ำหนักบรรทุกดังกล่าวส่งผลให้รถมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น และเมื่อทำการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์จะพบว่ามูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถและระยะเวลาในการเดินทางแล้ว มีมูลค่าผลประโยชน์น้อยกว่าเงินที่ต้องใช้ลงทุนสำหรับการเสริมกำลังของสะพาน และการซ่อมบำรุงรักษาถนน 

นายชัชวาลย์กล่าวว่า การกำหนดใช้พิกัดน้ำหนักรถบรรทุกถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือและช่วยกันดูแลรักษาทางหลวงให้อยู่ในสภาพดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น จึงขอให้ผู้ประกอบการขนส่งและผู้ขับขี่รถบรรทุกทุกท่านปฏิบัติตามกำหนดพิกัดของรถพ่วงดังกล่าว และยังเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินที่จะนำมาบำรุงรักษาทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการแข่งขันเชิงคุณภาพในการขนส่ง และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนส่งไทยเพื่อรองรับการแข่งขันในภาคการขนส่งทางถนนหลังจากการเปิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบกได้รับมอบหมายให้พิจารณากำหนดบทลงโทษต่อผู้ประกอบการขนส่งที่กระทำผิดกฎหมายน้ำหนักบรรทุกอย่างจริงจังด้วย โดยผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกพ่วง ผู้ประกอบการขนส่งหรือผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง โทรศัพท์ 0-2354-6668-76 ต่อ 26415 หรือสายด่วนกรมทางหลวง 1586
กำลังโหลดความคิดเห็น