สหรัฐฯ ส่งผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกับไทยทั้งภาคปฏิบัติและภาคสนาม ติวเข้มแผนและแท็กติกการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมจับมือกรมส่งเสริมวัฒนธรรมหาทางป้องกันการละเมิดหนัง เผย 3 เดือนจับกุมได้แล้วกว่า 2 พันคดี ของกลาง 2.4 แสนชิ้น เล็งจับต่อ เน้นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสินค้าที่เป็นอันตรายต่อประชาชน
นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ประสานการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติของสหรัฐฯ (IPR Center) มาปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (NICE) เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ เริ่มเดือน มิ.ย. 2557 นี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือและแนะนำไทยในด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ จะเข้ามาช่วยแนะนำแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การติดตาม การตรวจสอบ การสืบสวน ตลอดจนการฟ้องร้องดำเนินคดีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีในชั้นศาล เพื่อให้การปราบปรามการละเมิดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สหรัฐฯ จะมาทำงานภาคปฏิบัติร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมฯ จะมาให้คำแนะนำในด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะเข้ามาทำงานร่วมกับเรา มาดูว่าเทคนิค วิธีการทำงานของไทยเป็นอย่างไร มีอะไรต้องปรับแก้ไขบ้าง รวมทั้งการให้คำแนะนำในเรื่องการละเมิดใหม่ๆ จะป้องกันอย่างไร อย่างการตรวจสอบการละเมิดทางอินเทอร์เน็ต การตรวจสอบสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น”
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ยังจะเข้าไปทำงานภาคสนาม โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมศุลกากร ในการตรวจจับสินค้าละเมิด ทั้งที่จำหน่ายทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ และสินค้าที่ผ่านด่านศุลกากร
นางกุลณีกล่าวว่า กรมฯ ยังมีแผนที่จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนของภาพยนตร์ เพราะกรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีเป้าหมายในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทำภาพยนตร์ และต้องการป้องกันการละเมิด แต่เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ กรมฯ จึงต้องเข้าไปให้ความรู้ในเรื่องการคุ้มครองและป้องกันการละเมิด และกรณีถ้าถูกละเมิดจะดำเนินการอย่างไร
สำหรับสถิติการปราบปรามในช่วง 3 เดือนของปี 2557 (ม.ค.-มี.ค.) จับกุมได้จำนวน 2,430 คดี ของกลาง 243,457 ชิ้น โดยเป็นสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด รองเท้า นาฬิกา และกระเป๋า และเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น เพลง ภาพยนตร์ และซอฟต์แวร์ เป็นต้น รวมทั้งยังพบว่ามีสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน เช่น ยารักษาโรคปลอม อะไหล่ปลอม สุรา-ไวน์ปลอม เครื่องสำอางปลอม และซอสปรุงรสปลอม เป็นต้น ซึ่งจากนี้ไปจะเน้นเพิ่มการจับกุมให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเป้าหมายข้างต้น