อาหารแพงดันเงินเฟ้อเดือน เม.ย.พุ่ง 2.45% สูงสุดในรอบ 13 เดือน คาดไตรมาส 2 เงินเฟ้อยังขยับได้อีก เหตุปัญหาภัยแล้งทำสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ แพงต่อเนื่อง ส่วนการขึ้นค่าไฟฟ้าอีก 10 สตางค์กระทบเงินเฟ้อทั้งปี 0.7%
นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน เม.ย. 2557 เท่ากับ 107.47 สูงขึ้น 2.45% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 2556 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2556 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 2.69% และเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2557 ที่ผ่านมาเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.50% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนของปี 2557 (ม.ค.-เม.ย.) สูงขึ้น 2.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน เม.ย.เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 13 เดือน เป็นผลจากราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น จากภาวะต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ที่สูงขึ้น จากเนื้อสุกร ผักสด รวมถึงราคาพลังงาน ทั้งก๊าซหุงต้มและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น
โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 4.61% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้น 7.90% ไข่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่ม 2.91% ผักและผลไม้เพิ่ม 2.63% เครื่องประกอบอาหารเพิ่ม 4.59% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 4.89% อาหารบริโภคนอกบ้านเพิ่ม 5.42% ส่วนดัชนีหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1.33% สินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม 5.02% ค่าเช่าบ้าน หอพักเพิ่ม 1.04% เหล้า เบียร์ บุหรี่เพิ่ม 5.83% เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายการสินค้าที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อ 450 รายการ พบว่ามีสินค้าปรับขึ้นราคา 191 รายการ สินค้าไม่เปลี่ยนแปลงราคา 196 รายการ และสินค้าราคาลดลง 63 รายการ
นางอัมพวันกล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากราคาอาหารที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นก๊าซหุงต้ม โดยประเมินว่าเงินเฟ้อไตรมาส 2 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.4% ทำให้อัตราเงินเฟ้อครึ่งปีแรกเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 2%
ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี 2557 จะยังคงขยายตัวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 2-2.8% ภายใต้สมมติฐาน คือเศรษฐกิจไทยขยายตัวภายใต้กรอบ 3-5% น้ำมันดิบตลาดดูไบ 95-115 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 29-34 บาท/เหรียญสหรัฐ และรัฐบาลยังคงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนไว้อยู่
นางอัมพวันกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ในเดือน พ.ค.อีก 10 สตางค์/หน่วย จนทำให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นมาทำสถิติสูงสุดที่ 3.96 บาท/หน่วยนั้น คาดว่าจะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. และจะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั้งปีประมาณ 0.7%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้า 312 รายการ ตัดกลุ่มอาหารสดและพลังงานออก) เดือน เม.ย. 2557 เท่ากับ 104.64 สูงขึ้น 1.66% เทียบกับเดือน เม.ย. 2556 และสูงขึ้น 0.40% เทียบกับ มี.ค. 2557 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 4 เดือนสูงขึ้น 1.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา