xs
xsm
sm
md
lg

อาหารแพงดันเงินเฟ้อ มี.ค.พุ่ง 2.11% สูงสุดรอบ 9 เดือน เผยหมูราคาฉุดไม่อยู่ ขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 165 บาท สูงสุดรอบ 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ มี.ค.พุ่ง 2.11% สูงสุดในรอบ 9 เดือน หลังสินค้าหมวดอาหารราคาขึ้นยกแผง ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ แต่ยังมั่นใจทั้งปีอยู่ในกรอบ 2-2.8% จับตารัฐบาลเลิกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ดันเงินเฟ้อกู่ไม่กลับแน่ ส่วนราคาหมูแพงสุดในรอบ 3 ปี ขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 160-165 บาทแล้ว

นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มี.ค. 2557 เท่ากับ 106.94 สูงขึ้น 2.11% เทียบกับ มี.ค. 2556 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2556 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 2.25% และเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 2557 ที่ผ่านมาเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.22% ส่งผลให้เงินเฟ้อ 3 เดือนของปี 23557 (ม.ค.-มี.ค.) สูงขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน มี.ค.เพิ่มขึ้น 2.11% เป็นผลมาจากราคาสินค้าอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 4.46% สินค้าที่มีราคาแพงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม 8.09% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 4.03% ผักและผลไม้ 5.89% เครื่องประกอบอาหาร 3.75% อาหารบริโภคนอกบ้าน 4.39% อาหารบริโภคในบ้าน 3.24% ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.91% สินค้าราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง 1.83% ค่าเช่าบ้าน หอพัก 1% บุหรี่ เหล้า เบียร์ ไวน์ 5.13% เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายการสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ 450 รายการ พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น 177 รายการ เช่น ข้าวสาร เนื้อหมู น้ำมันพืช อาหารจานเดียว และก๊าซหุงต้ม สินค้าที่มีราคาเท่าเดิม 203 รายการ และสินค้าที่มีราคาลดลง 70 รายการ

“กระทรวงฯ คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2557 จะขยายตัวตามกรอบ 2-2.8% โดยเงินเฟ้อไตรมาส 2 จะขยายตัวประมาณ 2.24% ส่งผลให้เงินเฟ้อครึ่งปีแรกขยายตัว 2.12% ถือเป็นการขยายตัวไม่น่าห่วง สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้ราคาสินค้าอาหารและเกษตรเพิ่มขึ้น ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลก มองว่าการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ของสหรัฐฯ จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ทำให้การนำเข้าน้ำมันมีต้นทุนสูงขึ้น” นางอัมพวันกล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า กำลังจับตาว่ารัฐบาลจะมีการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่อไป หรือว่ายกเลิก เช่น การอุดหนุนค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม รถเมล์ รถไฟ ฟรี เพราะหากยกเลิกจะกระทบอัตราเงินเฟ้อเพิ่ม 1.03% แต่หากยกเลิกมาตรการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะกระทบต่อเงินเฟ้อเพิ่มอีก 1% เพราะราคาน้ำมันดีเซลจะปรับเพิ่มขึ้นลิตรละ 10 บาท

ส่วนสถานการณ์ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงในตลาดสดพื้นที่กรุงเทพฯ ล่าสุดได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 160-165 บาท สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 ที่ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงปรับเพิ่มขึ้น 165-170 บาท จนกระทรวงพาณิชย์ต้องออกมาตรการสูงสุด โดยกำหนดราคาขายปลีกเนื้อหมูให้จำหน่ายไม่เกิน กก.ละ 152-162 และการปรับขึ้นราคาขายปลีกเนื้อหมูในตลาดสดเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) ได้กำหนดมาตรการดูแลราคาหมูเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยขอความร่วมมือหมูหน้าฟาร์มให้จำหน่ายไม่เกิน กก.ละ 78 บาท เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกเกินกก.ละ 150-155 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น