xs
xsm
sm
md
lg

อาหารแพงดันเงินเฟ้อ ก.พ.ขึ้น1.96%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาหารและสินค้าเกษตรราคาพุ่ง ดันเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ขยับ 1.96% “พาณิชย์” จับตาภัยแล้งดันราคาพุ่งต่อ ส่วนขึ้นค่ารถไฟฟ้ากระทบเงินเฟ้อเล็กน้อย แต่หากรัฐบาลไม่ต่อมาตรการอุดหนุนน้ำมันดีเซล กระทบหนัก 0.5-1%

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนก.พ. 2557 เท่ากับ 106.71 สูงขึ้น 1.96% เทียบกับเดือนก.พ.2556 ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราชะลอตัวต่ำกว่า 2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และสูงขึ้น 0.23% เทียบกับม.ค.2557 ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนปี 2557 (ม.ค.-ก.พ.) สูงขึ้น 1.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัว 1.96% เป็นผลมาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 4.26% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้น 7.57% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 4.42% ผักและผลไม้ เพิ่ม 6.36% อาหารสำเร็จรูป เพิ่ม 3.41% ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.77% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น
น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 1.07% ค่าเช่าบ้าน หอพักเพิ่ม 0.94% บุหรี่ เหล้า เบียร์ เพิ่ม 4.31% เป็นต้น โดยในเดือนก.พ.2557 เมื่อแยกแยะสินค้าที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อ 450 รายการ พบว่า สินค้าที่มีราคาแพงขึ้น 199 รายการ ลดลง 75 รายการ และไม่เปลี่ยนแปลงราคา 176 รายการ

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (เงินเฟ้อพื้นฐาน) เดือนก.พ.2557 เท่ากับ 104.14 สูงขึ้น 1.22% เทียบกับก.พ.2556 และสูงขึ้น 0.27% เทียบกับม.ค.2557 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 2 เดือน สูงขึ้น 1.13%

นางศรีรัตน์กล่าวว่า ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน คือ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งกระทรวงฯ กำลังติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพราะภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเริ่มชัดเจนในเดือนมี.ค.2557 ที่เงินเฟ้อน่าจะสูงขึ้นในระดับ 2% ส่วนผลกระทบอื่นๆ ที่ต้องติดตาม เช่น มาตรการอุดหนุนน้ำมันดีเซลที่จะสิ้นสุดในเดือนเม.ย.2557 หากไม่มีการต่ออายุและเก็บภาษีน้ำมันดีเซลตามปกติ จะส่งผลกระทบค่าเงินเฟ้อ 0-5-1% ขณะที่การปรับขึ้นราคาค่ารถไฟฟ้าใต้ดินระยะทาง 1-2 บาท ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.002%

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2557 ไว้ที่ 2-2.8% ภายใต้สมมติฐาน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 3-5% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 95-115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 29-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และรัฐบาลยังคงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนเอาไว้ต่อไป ทั้งรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ค่าเล่าเรียนฟรี และอุดหนุนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อย

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีการติดตามดูแลภาวะราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะดูแลให้เกิดความเป็นธรรมทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยในด้านผู้ผลิต หากต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นจนแบกรับภาระไม่ไหว ก็จะพิจารณาให้ปรับขึ้นราคาตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงผู้บริโภคด้วยว่าจะรับได้มากน้อยแค่ไหน เพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพมากจนเกินไปแต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการยื่นขอปรับราคาเข้ามา ส่วนผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่าที่ทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น ได้มีการติดตามผลกระทบอยู่ แต่ยังไม่มีผู้ผลิตยื่นขอปรับราคาเข้ามา
กำลังโหลดความคิดเห็น