xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ถือหุ้นการบินไทยถกมาราธอน 9 ชม. คลังเมินรายย่อยโหวตตั้ง “อำพน” นั่งบอร์ดอีกสมัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ถือหุ้นการบินไทยประชุมยาวนานเป็นประวัติศาสตร์ 9 ชม. รายย่อยประสานเสียงค้านตั้ง “อำพน” นั่งบอร์ดอีกสมัย ชี้ทำบริษัทขาดทุนถึง 2 ปี ล่าสุดปี 56 ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ชวดปันผล ขณะที่คลังในฐานผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สน โหวตตั้งตามโผ ด้าน “ประจิน” เร่งปรับโครงสร้างเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

วันนี้ (29 เม.ย.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2557 ณ ห้องประชุมชัยพฤกษ์ หอประชุมกองทัพอากาศ (อาคารทองใหญ่) โดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เป็นประธาน โดยการประชุมเริ่มเวลา 13.45 น. ปิดประชุม 22.45 น. ใช้เวลาถึง 9 ชั่วโมง นับเป็นการประชุมที่ใช้เวลามากที่สุดของการบินไทย ซึ่งสาเหตุหนึ่งเพราะผลประกอบการปี 2556 ที่ประสบกับการขาดทุนถึง 12,000 ล้านบาท จึงไม่มีการจ่ายปันผลในปีนี้ และกระแสคัดค้านนายอำพน กินติอำพน กลับมาเป็นกรรมการบอร์ดอีกครั้ง

โดยมีกรรมการครบวาระ 5 คน โดย 1 ใน 5 คือนายอำพน กิตติอำพน ซึ่งได้รับการเสนอชื่อกลับเข้ามาเป็นกรรมการต่ออีกวาระหนึ่งพร้อมด้วย นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ นายสุธรรม ศิริทิพย์สาคร ส่วนกรรมการใหม่ 2 คน คือ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ (แทนนายสรจักร เกษมสุวรรณ) พลอากาศโท ศิวเกียรติ์ ชเยมะ (แทนนายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี) ซึ่งที่ประชุมที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่มีมติเห็นชอบ

และเห็นชอบการยกเลิกวงเงินคงเหลือสำหรับออกและเสนอขายหุ้นกู้เดิมและอนุมัติให้บริษัทฯ ออกและเสนอขายหุ้นกู้ในวงเงินรวมไม่เกิน 40,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี (57- 62) โดยสามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ และอาจออกเป็นเงินบาทหรือเงินสกุลอื่นเทียบเท่า โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนในขณะที่มีการออกและเสนอขายหุ้นในแต่ละคราวเพื่อให้บริษัทได้ประโยชน์สูงสุด และเกิดความคล่องตัวในการจัดหาเงินทุนตามความจำเป็นและเหมาะสมในกรณีที่ตลาดเอื้ออำนวย

โดยพลอากาศเอก ประจินกล่าวว่า บริษัทต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 จึงมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ เช่นปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะประเมินผลการใช้โครงสร้างใหม่ 6 เดือน หากส่วนใดไม่เหมาะสมจะต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป ซึ่งการแก้วิกฤตของการบินไทยจะต้องมีการปรับปรุงหลายๆ เรื่องไปพร้อมกัน ซึ่งเรื่องเร่งด่วนจะต้องแก้ไขทันทีในเวลาไม่เกิน 3-6 เดือน ปัญหาที่ต้องแก้ไขแบบค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลา 1-2 ปี ส่วนปัญหาที่ซับซ้อนต้องใช้เวลา 3-5 ปี

ซึ่งขณะนี้การดำเนินการหลายๆ ส่วนยังไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด จึงต้องปรับปรุงและกำหนดผู้รับผิดชอบกำกับดูแลที่ชัดเจน โดยเรื่องเร่งด่วนคือ เสริมสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ พร้อมทั้งเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบอร์ด ฝ่ายบริหาร พนักงาน ในการทำงานร่วมกัน โดยต้องปรับการทำงานให้มีความคล่องตัวรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง ต้องบริหารจัดการแบบ Real Time มากขึ้น ซึ่งได้มอบหมายให้นายโชคชัย ปัญญายงค์ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ใน 4 เดือน เพื่อให้การดำเนินงานโดยเฉพาะด้าน Operation & Service เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วขึ้นและแก้ไขได้ทันท่วงที

พลอากาศเอก ประจินกล่าวว่า ถึงเวลาที่จะร่วมกันแก้ปัญหา โดยจะมีการทบทวนองค์ประกอบและบทบาทหน้าที่ของบอร์ดและคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยกรรมการแต่ละชุดจะกำกับดูแลและปรับเปลี่ยนการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผลประกอบการ 5 ปีย้อนหลังไม่คงที่ โดยปี 56 ขาดทุน ต้องปรับการหารายได้จากธุรกิจหลักและธุรกิจเสริมเชิงรุกจัดการเครือข่ายการบินที่เหมาะสม บริหารค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

ด้านนายโชคชัย ปัญญายงค์ รักษาการดีดีการบินไทย กล่าวชี้แจงที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า ตั้งแต่ปี 52 สัดส่วนผู้โดยสารพรีเมียมลดลงเรื่อยๆ ทำให้สายการบินเต็มรูปแบบได้รับผลกระทบ ประกอบกับบริษัทมีรายได้เป็นเงินสกุลต่างประเทศถึง 70% ซึ่งค่าเงินผันผวนทำให้รายได้จากการขายลดลงถึง 4% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น เพราะค่าบาทแข็ง โดยในปี 56 บริษัทรับมอบเครื่องบินใหม่จำนวน 17 ลำ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลง 2% อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง 3.1% (เฉลี่ยใช้น้ำมันปีละ 8.5 หมื่นล้านบาท) มีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันผันผวนประมาณ 70% และได้รับเงินชดเชย 56 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,885 ล้านบาท ซึ่งสิ้นสุด 31 ธ.ค. 56 ฝูงบินมี 100 ลำ อายุเฉลี่ย 9.3 ปี โดยมีการรับมอบเครื่องบินใหม่ 17 ลำ ปลดระวางเครื่องบินเก่า 16 ลำ โดยมีจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นจากปี 55 ประมาณ 8.1% ขนส่งผู้โดยสารรวม 21.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9 แสนคน ขนส่งพัสดุภัณฑ์ 655,570 ตัน ลดลง 23,562 ตัน มีรายได้รวม 206,336 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4,952 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12,000 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานคือ ปัญหานโยบายทัวร์จีนและปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น