บ้านร้อนเป็นไฟ กลายเป็น “ศึกสายเลือด” ประกาศอย่างเป็นทางการบนออนไลน์ไปเสียแล้ว เมื่อความเห็นต่างทางการเมืองจุดประเด็นให้ครอบครัว “เจริญปุระ” ลุกขึ้นมาสุมกองไฟที่คุกรุ่นอยู่ภายในให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เริ่มจากฉะกันเรื่องสีเสื้อ ลามไปจนถึงปมขัดแย้งระหว่างคนใน สะท้อนให้เห็นว่า “การเมือง” ยังเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ของครอบครัว ในวันที่ต่างฝ่ายต่างพร้อมจะ “แตกหัก”
ครอบครัวชอกช้ำเพราะ “ฉะ” การเมือง
ชัดเจนมาตลอดว่าเลือกข้างไหน สำหรับ “ทราย-อินทิรา เจริญปุระ” ล่าสุด การแสดงออกในจุดยืนทางการเมืองของตัวเองก็ทำให้ต้องกลายเป็นประเด็นเดือดอีกครา เมื่อเจ้าตัวออกมาแสดงอาการไม่เห็นด้วยต่อกลุ่มแนวร่วม กปปส. ที่นำเอาสัญลักษณ์ของ "มือปืนป๊อปคอร์น" มาเป็นหนึ่งในเครื่องหมายประกาศอุดมการณ์ในครั้งนี้ ส่งให้ “เตชะ ทับทอง” แนวร่วมผู้โด่งดังของ กปปส. ในโลกไซเบอร์ หนึ่งร้อยตัวแทนทำดีเพื่อพ่อ ออกมาจัดหนักเกี่ยวกับเธอคนนี้
กระทั่งเรื่องราวยิ่งลุกลามรุนแรงมากขึ้นไปอีก เมื่อ “กุ้ง-วิภาวี เจริญปุระ” น้องสาวต่างมารดาของทราย ซึ่งสวมเสื้อคนละสี เข้ามาคอมเมนต์แฉแหลกไปถึงเรื่องราวของต้นตระกูลว่า ทรายไม่เคยดูแลผู้เป็นพ่อ “รุจน์ รณภพ” (สุรินทร์ เจริญปุระ) ขณะป่วยเลย แม้จะอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันก็ตาม
และนี่คือความคิดเห็นแรงๆ ที่ฝากเอาไว้ให้ร้อนฉ่าโลกออนไลน์ กระแหนะกระแหนว่าน่าเอารางวัลตุ๊กตาทองไปมอบให้เสียจริงๆ เพราะวันๆ ดีแต่สร้างภาพ หาที่ยืนในสังคมไม่ได้เลยต้องทำตัวผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ในมุมเล็กๆ มืดๆ ของสังคมเพราะอยากดัง “เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ คะ ดิฉันไม่สามารถขอโทษแทนผู้หญิงคนนี้ได้ค่ะ ถึงจะเป็นพี่น้องต่างมารดาแต่พ่อเดียวกัน คิดอยู่ไม่นานหรอกค่ะที่จะเขียนบอกเล่าสู่กันฟัง ความเลวของเขามันเลยไปสุดทางแล้ว!!!”
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเศษเสี้ยวบางส่วนจากการฉะกันระหว่างพี่น้องต่างสายเลือดบนโลกออนไลน์ บอกได้คำเดียวว่าแรง!! เมื่อเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้านเช่นนี้ คนที่ถูกพาดพิงจึงไม่ยอมถูกต่อว่าฝ่ายเดียว ทราย-อินทิรา ออกมาบอกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างเจ็บแสบไม่แพ้กัน เตือนว่าอย่าดึงเรื่องความขัดแย้งในครอบครัวมาเอี่ยว ถ้าจะด่ากันเรื่องจุดยืนทางการเมือง ก็เชิญด่าได้เลย ตามสบาย
"สำหรับคนที่เมาท์เรื่องการดูแลพ่อทรายก่อนท่านจะเสีย กรุณารู้ไว้ด้วยนะคะ ว่าความจริงมันมีอยู่ และอย่าให้ทรายเริ่มพูดเลย ใครทำอะไรไว้ย่อมรู้ตัวดี และทรายไม่มีวันลืมสิ่งที่คุณได้ทำไว้... ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทางการเมืองของทราย เชิญด่าทรายค่ะ แต่อย่าลากพ่อเข้ามาเกี่ยวและอย่าโกหกนักเลย คนรู้จริงมันมีอยู่ เราก็รักในหลวงค่ะทำงานถวายมาก็เยอะเข้าเฝ้าฯ อยู่เรื่อยๆ เป็นมงคลชีวิตค่ะ ดังนั้น อย่าพูดในเชิงว่าเราจะล้มเจ้าเลยค่ะ ไม่งาม”
เกิดประเด็น เพราะเห็นต่าง!
ไม่ใช่แค่ครอบครัวนี้เท่านั้นที่มีความขัดแย้งเรื่องสีเสื้อให้ครอบครัวคุกรุ่นจนบ้านร้อน แต่ยังมีคนในวงการอีกจำนวนไม่น้อยที่มีคุณพ่อ-คุณแม่ ญาติสนิท มิตรสหาย ที่เป็นขั้วสีคนละข้าง บางรายแบ่งแยก เหลือง-แดง-ฟ้า ชัดเจน กระทบกระทั่งกันเป็นการภายในจนเกิดเป็นประเด็นข่าวใหญ่ให้เห็นมานักต่อนักแล้ว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดรายหนึ่งก็คือสาวมั่นเลือดใหม่แห่งวงการการเมืองไทยอย่าง “ตั๊น-จิตภัสร์ กฤดากร” ทายาทบริษัทยักษ์ใหญ่เบียร์สิงห์ ที่ออกมายืดอกประกาศอุดมการณ์อันแรงกล้าว่าจะต่อสู้กับระบอบคนโกง จนเป็นเหตุให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ต้องส่งจดหมายภายในถึง “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” ผู้มีศักดิ์เป็นคุณพ่อของเธอให้ปรามๆ ลูกสาวเสียบ้าง เพราะสกุลที่ห้อยท้ายชื่อส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กร สุดท้าย หญิงแกร่งคนนี้ถึงกับยอมเปลี่ยนนามสกุลเพื่อรักษาจุดยืนทางการเมืองเอาไว้ แม้จะต้องขุ่นข้องหมองใจต่อเครือญาติและคนในครอบครัวบางคนก็ตาม และนี่คือหลักฐานบางส่วนในเอกสารสำคัญ
“ผม นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี บิดาของ น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี จึงขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่ง และขอโทษมา ณ โอกาสนี้ ผมในฐานะพ่อ ได้พูดคุยกับลูกสาวหลายครั้งเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม น.ส.จิตภัสร์ ยังต้องการที่จะทำงานการเมืองต่อไป ผมและภรรยา รวมถึง น.ส.จิตภัสร์ ได้พูดคุยกันมาระยะหนึ่งก่อนหน้านี้แล้ว และเห็นควรที่จะเปลี่ยนนามสกุล”
“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และพี่ชายฝาแฝด “รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์” อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คือตัวอย่างความเห็นต่างอีกรูปแบบหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องจบลงที่การแตกหักเสมอไป เพราะทั้งสองคนเคยออกมายืนยันด้วยตัวเองว่า ถึงจะต่างสีแต่ก็กอดคอกันได้ แค่เปิดใจและรับฟัง
“ไม่ทะเลาะกันหรอกครับ เราเคารพในความคิดความเชื่อของกันและกัน อาจมีแปลกใจบ้างที่ทำไมคิดอย่างนั้น แต่ก็มั่นใจว่าแต่ละคนพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม” ฉันชาย ผู้เป็นพี่ออกตัวเอาไว้อย่างชัดเจน
“ผมกับพี่ชายเกิดจากไข่ใบเดียวกัน ยังคิดต่างกันเลย ขนาดผมกับพี่ชาย หน้าเหมือนกัน ถูกเลี้ยงมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก มีหลายเรื่องเราคิดเหมือนกันและก็มีบางเรื่องที่เราคิดต่างกัน แต่เราไม่ทะเลาะกันนะ ยังรักกันดีอยู่ ผมว่าของแบบนี้มันเปลี่ยนความคิดกันยากและไม่มีประโยชน์ที่จะเปลี่ยนความคิดคนอื่น เพราะการจะคิดอะไรต้องมาจากตัวเอง พี่ผมอาจคิดถูกก็ได้ในระยะยาว เราอาจจะต้องเป็นคนเปลี่ยนความคิดในอนาคตก็ได้
คนเราเห็นต่างกันได้ แสดงออกตามระบอบประชาธิปไตยได้ แต่อย่าถึงกับโกรธกัน เกลียดกัน จะเอาเป็นเอาตายกันเลย ทุกอย่างยังมีขั้นตอนของมันอยู่อีกหลายขั้นตอนครับ ผมว่านี่คือหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ทุกคนไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรี คุณหมอ อธิการบดี เจ้าหน้าที่ นักการ ภารโรง ก็มีสิทธิ์ มีเสียงเท่ากันหมด ไม่มีใครสำคัญกว่าใคร ต่างคนก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด”
เมื่อเสือ 2 สี อยู่ในถ้ำเดียวกัน!
ยังมีอีก 2 ครอบครัวที่ดุเด็ดเผ็ดมันไม่แพ้ใคร คือคนที่มีชื่อในวงการว่า “วอก-เป็นต่อ” และ “กอล์ฟ-ฟักกลิ้งฮีโร่” เพราะพ่อแม่ของพวกเขาประกาศตัวว่าเป็น “แดงจ๋า” ในขณะที่พวกเขาก็แสดงตัวว่า “เหลืองอ๋อย” เถียงกันเรื่องการเมืองเป็นว่าเล่นจนต่างฝ่ายต่างถึงกับต้องเอามือกุมขมับกันไปหลายต่อหลายครั้ง แต่พวกเขาก็ยังเชื่อว่าการเมืองคือเรื่องที่ทิ้งไม่ได้ ต้องต่อสู้และพูดคุยกันต่อไปจนกว่าจะ “เข้าใจ” กันจริงๆ
“ความจริงผมเป็นคนอุดรฯ นะ และสิ่งที่ผมไม่ชอบมากที่สุดคือ คนชอบพูดว่าจังหวัดผมเป็นคนเสื้อแดง ถามว่าผมรู้จักคนเสื้อแดงเยอะมั้ย ผมรู้จักเยอะแยะเลยนะ พี่ๆ ที่รู้จักกันทุกวันนี้ยังชัดเจนว่าตัวเองเป็นเสื้อแดง หน้าเพจเขาก็จะแปะแต่ข่าวเสื้อแดง ส่วนหน้าเพจผมก็จะแปะแต่ข่าวกปปส. แต่พอเจอกัน เราก็คุยกัน ไม่ได้ด่ากัน ส่วนใหญ่เราจะคุยกันด้วยเหตุผลมากกว่า
แม่ผมก็เป็นกลุ่มเสื้อแดง บางทีก็มีทะเลาะกัน ท่านจะบอกว่า “นักการเมืองก็เลวเหมือนกันหมดแหละ” ส่วนผมก็จะว่า “ใช่แล้ว ถ้าคิดว่าเลวหมดทุกคนแล้วเราจะอยู่ยังไง เราจะยอมให้เขาโกงอย่างนี้เหรอ แต่ผมไม่ยอมไง ก็ต้องสู้”
บางทีแม่ผมจะบอกว่า “ประชาธิปัตย์มันทำอย่างนี้นะๆ มันโกงอย่างนี้ๆ” ส่วนผมก็จะบอกว่า “มาดูเพื่อไทยทำอะไรบ้าง” แฉกันไปมา ทีนี้พอลูกข้อมูลเยอะกว่า ลูกเริ่มรุม แม่เลยเริ่มเงียบล่ะครับ (หัวเราะ)” เกลือ-กิตติ เชี่ยววงศ์กุล หรือ วอก-เป็นต่อ แบ่งปันประสบการณ์น่ารักๆ ให้ฟัง
“กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่” เจ้าของเพลงฮิต “ราตรีสวัสดิ์” หรือชื่อจริงของเขาคือ “ณัฐวุฒิ ศรีหมอก” คืออีกคนหนึ่งที่ยอมตาต่อตาฟันต่อฟันกับที่บ้านและคนรอบข้างเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง
“มีสมาชิกแฟนเพจผมหลายคน ด่าผมเรื่องความคิดต่างเรื่องการเมือง อยากให้ทราบว่าการที่ผมทำอาชีพเป็นแร็ปเปอร์ไม่ได้แปลว่าผมจะหมดสิทธิ์แสดงออกว่าผมคิดแบบไหน นอกจากผู้ที่หมิ่นในหลวงแล้ว ผมไม่เคยบล็อกผู้เห็นต่างออกจากแฟนเพจนี้ แนวคิดทางการเมืองล้วนเป็นเรื่องส่วนตัว
ผมเลือกข้างครับ และผมจะยืนหยัดในสิ่งที่ผมคิด โดยไม่เบียดเบียนใคร ไม่สู้กับใครที่เป็นประชาชน ไม่ทะเลาะ ไม่ดูถูก ผมแค่จะสู้กับรัฐบาลในสิ่งที่ผมเห็นว่ามันผิด สิทธิ์ของทุกคนที่จะเกลียดหรือเลิกติดตามผลงานผม บล็อกผม และมันจะเป็นสิทธิ์ของผมที่จะแสดงออกและทำสิ่งที่เชื่อต่อไป หากวันนี้คุณคิดว่าเราถึงเวลาต้องจากกัน... ยินดีที่ได้รู้จักครับ Peace up!!
พ่อผมเองก็เป็นเสื้อแดง เป็นคนที่ผมมักทะเลาะกันประจำในเรื่องการเมือง ความคิดเห็นไม่ตรงกันเลยทำให้เราไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ ความบังเอิญก็คือผมดันซื้อห้องให้พ่ออยู่ตรงรามคำแหง 63 ซอยที่อยู่ตรงข้ามสนามราชมังคลาฯ ชนิดว่าลากเส้นตรงไปถึงเลย ซื้อไว้ตั้งแต่ประเทศยังไม่มีเสื้อแดงด้วยซ้ำ พ่อผมเลยลันล้ามาก ชุมนุมทีไรก็ใส่เสื้อแดงไปเย้วๆ ประจำ สถานการณ์ยิ่งหนักข้อผมยิ่งหักกับพ่อจนไม่ค่อยได้คุยกัน”
กระทั่งเกิดเหตุปะทะบริเวณหน้าราม ในตอนนั้นเขาได้แต่ภาวนาในใจว่าให้พ่อของเขาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมรอดกลับมา เมื่อสถานการณ์คลี่คลายและได้เห็นพ่อมายืนอยู่ตรงหน้า เขาจึงตระหนักได้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และนี่คือความในใจที่เขาคิดได้และตัดสินใจโพสต์ทิ้งไว้ในเฟซบุ๊ก หวังเล็กๆ ว่าจะให้หลายต่อหลายคนที่ขัดแย้งกันในครอบครัว ขัดแย้งกับเพื่อนฝูงและเพื่อนมนุษย์ได้คิดตาม
“ผมคิดแต่จะทำยังไงให้เอาพ่อผมออกมาอย่างปลอดภัยแค่นั้นเอง มีการปิดถนน ผมได้แต่บอกพ่อว่าห้ามออกมาเย้วเด็ดขาด ไม่ได้ขอในฐานะประชาชนผู้เกลียดทักษิณ แต่ขอร้องในฐานะลูกคนหนึ่ง
สุดท้ายเช้านี้พ่อผมก็ออกมาอยู่ห้องผมได้อย่างปลอดภัย ผมได้แต่นั่งคิดว่าเรากำลังมานั่งเกลียดอะไรกันอยู่ วันก่อนผมเกิดอุบัติเหตุเหยียบพื้นไม้ทะลุโดนไม้หนีบ ทุกคนแถวนั้นมาช่วยเอาขาผมออก มีป้าคนนึงบอกว่าเขาทำงานสาธารณสุขมาช่วยปฐมพยาบาล ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าคนพวกนี้เป็นเสื้อแดงผมจะเกลียดพวกเขาหรือเปล่า เราคือครอบครัว เราคือคนไทย ...เราลืมอะไรกันไปหรือเปล่า?”
---ล้อมกรอบ---
เห็นต่าง สร้างสุข
“งดการเมืองในบ้าน” หลายๆ ครอบครัวคงตั้งกฎเอาแบบนี้ โดยเฉพาะครอบครัวที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน แต่ในเมื่อ “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” จะเอาแต่หนีปัญหาไม่สนใจก็คงจะไม่ได้ และเพื่อให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด นี่คือวิธีการพูดคุยกันที่จะไม่ปลุกอารมณ์รุนแรงทางการเมืองให้ไฟลุกพรึ่บขึ้นในบ้าน ตามที่ นพ.ยงยุทธิ์ วงศ์ภิรมย์ศานต์ จิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต รองประธานมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว แนะนำมา
ข้อที่ 1 คือ “รับฟัง” อย่ารีบไปโต้แย้ง เพราะยิ่งโต้แย้งจะยิ่งไปกันใหญ่, ข้อที่ 2 คือให้ “ชื่นชม” เพราะอย่างน้อยๆ คนที่มีอารมณ์รุนแรงทางการเมืองก็มีความตั้งใจในเบื้องลึกว่าอยากให้บ้านเมืองเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น, ข้อที่ 3 คือ “ห่วงใย” ให้คิดว่าถ้าเราไปโกรธ-เกลียดชังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากมันจะเป็นชนวนของความรุนแรง อย่างน้อยเราทุกคนก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ส่วนตัวเราเอง เวลาเกลียดชังใครมากๆ เราก็จะเครียด เกิดอาการว้าวุ่น ทำให้เกิดผลเสียต่อทั้งสังคมและเอง
สุดท้าย ข้อที่ 4 คือ “ให้คำแนะนำ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้คำแนะนำคนที่เห็นต่างให้ไปรับฟังฝั่งตรงข้าม แต่อาจจะให้คำแนะนำให้รับฟังข้อมูลจากหลากหลายทางมากขึ้น ไม่ฟังข้อมูลแค่จากฟากใดฟากหนึ่งเพียงอย่างเดียว
“ควรหลีกเลี่ยงการใช้ “Hate Speech” ครับ เพราะความรุนแรงที่เกิดจากภายนอกมันจะมาทีหลัง แต่ที่เกิดก่อนคือความรุนแรงที่เกิดจากทางวาจา เช่น การดูถูก-ดูหมิ่น-เหยียดหยาม ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งทางการพูดคุยระหว่างบุคคลและผ่านโซเชียลมีเดีย อันนี้ควรจะลดละเลิกให้มากๆ
ผมอยากยกตัวอย่างเคสหนึ่งให้ฟัง เป็นเคสคนที่ผมรู้จัก ลูกคนหนึ่งกลับไปเยี่ยมบ้านที่ราชบุรี ลูกเป็นฝ่ายเสื้อเหลือง แต่พ่อแม่เปิดทีวีช่องแดงตลอด พอกลับบ้านทีไรเขาก็จะหงุดหงิดพ่อแม่มาก แต่พอเขาได้กลับมาทบทวนตัวเองก็รู้สึกว่าเขาเอง เวลาเขาดูทีวี เขาก็ดูทีวี-รับข่าวสารจากฝั่งเดียวเหมือนกัน ก็เลยต้องพิจารณาตัวเองเหมือนกันว่าต้องดูทีวีที่นำเสนอแบบกลางๆ มากขึ้น แล้วเขาก็มองเห็นว่าการที่พ่อแม่มีความสนใจด้านการเมืองก็ถือเป็นข้อดีนะ ทำให้พ่อแม่เขาไม่ค่อยทะเลาะกันและรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศมากขึ้น
พอลูกคิดได้แบบนี้ก็ช่วยลดอคติต่อพ่อแม่ได้ คุยกันมากขึ้นได้ และเวลาคุยกัน เขาก็ไม่ได้ไปพยายามเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของพ่อแม่เขา แต่พยายามเชิญชวนให้พ่อแม่เขาและตัวเขาเอง มารับสื่อที่เสนอข้อมูลและความคิดเห็นจากสองทางมากขึ้นมั้ย ก็ทำให้คนในครอบครัวเดียวกันสามารถคุยกันได้มากขึ้น รับความหลากหลายได้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องไปมีอารมณ์รุนแรงต่ออีกฝ่ายหนึ่ง”
โดยเฉพาะ ครอบครัวไหนที่มีปมขัดแย้งภายในอยู่แล้ว คุณหมอแนะนำว่าให้ไปแก้ไขปมขัดแย้งเรื่องนั้นก่อน เพราะเรื่องการเมืองคงไม่ได้เป็นสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัว แต่คงเป็นเพราะครอบครัวนั้นมีปัญหาเรื่องหนี้สิน ปัญหาเรื่องสัมพันธภาพ ปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูลูก ฯลฯ มาก่อน เรื่องการเมืองอาจจะจุดชนวนความขัดแย้งได้ตามกระแส แต่เรื่องอื่นๆ ที่ฝังรากลึกต่างหากที่ต้องระวัง เพราะถ้ามีเรื่องเห็นต่างทางการเมืองไปซ้ำเติมอีก มันก็จะยิ่งซ้ำปัญหาไปกันใหญ่
“ถ้าเราสามารถจะเปิดใจรับฟังกันได้ ยอมรับได้ว่าความแตกต่างมันไม่มีอะไรถูกผิด การยอมรับฟังกันได้ก็ย่อมจะดีกว่า แต่ว่าถ้าเราไม่สามารถจะรับฟังกันได้ แล้วนำไปสู่ความรุนแรงที่มีมากกว่านั้น เราก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะกระทบกระทั่งกันเสียดีกว่า อันนี้ก็ต้องวัดกันที่วุฒิภาวะของเราครับ ถ้าวุฒิภาวะของเรายังไม่ดีนักก็คงต้องเลือกวิธีการเลี่ยงไม่พูดกันซะ”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
[INFO] ครอบครัวเป็นสุข! 4 วิธีเห็นต่างทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์
“เจริญปุระ” เดือด “กุ้ง” จวก “ทราย” เด็กเปรตเลวจนสุดทางแล้ว
เกลือ- กิตติ เชี่ยววงศ์กุล (วอก เป็นต่อ)“ผมออกมาต่อสู้เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์”
“ตั๊น - จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี” สาวแกร่งแกนนำผู้น่ารัก
“กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่” ลั่นขอเลือกข้าง เข้าใจหากถูกโกรธ-เกลียด