BECL เผยปัญหาการเมืองกระทบปริมาณจราจรบนทางด่วนช่วงไตรมาส 1/57 ลดถึง 4% คาดหากสถานการณ์ยืดเยื้อทั้งปีติดลบเฉลี่ย 3% แต่โชคดีได้ปรับขึ้นค่าผ่านทางทำให้รายได้เพิ่ม 4% ดันทั้งปีกำไรโตที่ 15% ขณะที่รายได้จากการลงทุนอื่นๆ ดีหนุนการเติบโตปี 57 ทั้งได้ปันผล TTW-CKP และ NECL มีกำไรเป็นปีแรก เตรียมเปิดทางเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช ช่วงอโศก-ศรีนครินทร์ กับถนนจตุรทิศช่วง ค. ต้น พ.ค.นี้ ช่วยบรรเทาจราจรชั่วโมงเร่งด่วน คาดว่ารายได้เดือนละ 7.5 ล้าน มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 12,000 คัน
นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL เปิดเผยว่า การดำเนินงานช่วงไตรมาส 1/2557 (ม.ค.-มี.ค. 57) พบว่าปริมาณการจราจรบนทางด่วนลดลง 4% ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองภายในประเทศมาตั้งแต่ปลายปี 2556 แม้ในเดือนเมษายน 2557 ปริมาณการจราจรจะเริ่มดีขึ้น แต่ยังลดลงถึง 3% และคาดว่าหากสถานการณ์การเมืองยังไม่ได้ข้อยุติปริมาณการจราจรจะลดลงเฉลี่ย 3% ไปทั้งปี ส่วนรายได้จากค่าผ่านทางนั้นจะเติบโตสวนทางกับปริมาณจราจรที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ได้ปรับค่าผ่านทางจาก 45 บาทเป็น 50 บาท (รถสี่ล้อ) ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2556 โดยคาดว่ารายได้ทั้งปี 2557 จะเติบโตจากปีก่อนประมาณ 3 -4% ซึ่งโดยเฉลี่ยบริษัทจะมีรายได้ประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกตินั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 15% ซึ่งเฉลี่ยบริษัทมีกำไรประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท โดยหากสถานการณ์ทางการเมืองยุติเร็วจะทำให้ปริมาณจราจรกลับมาเติบโตที่ 1-2% ซึ่งทำให้รายได้ค่าผ่านทางเติบโตถึง 7% ตามไปด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2557 บริษัทจะมีรายได้เพิ่มจากการลงทุนจากส่วนอื่น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้กำไรเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การลงทุนในบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีรายรับประมาณ 480 ล้านบาท มากกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 100 ล้านบาท รายรับจากการลงทุนในบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ที่จะเปิดโรงไฟฟ้าทุกแห่งให้บริการเต็มปี และจากบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (มหาชน) หรือ NECL ซึ่งเดิมมีผลประกอบการขาดทุนมาตลอดกว่า 10 ปี และมีขาดทุนสะสมอยู่หลายพันล้านบาท แต่ปีนี้จะเป็นปีแรกที่มีกำไร ซึ่งบริษัทจะมีส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 40 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการจราจรเติบโตต่อเนื่อง และไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองเพราะเป็นทางด่วนนอกเมือง รวมถึงบริษัทจะได้รับค่าชดเชยรายได้จากการชะงักงันทางธุรกิจจากสถานการณ์อุทกภัยปลายปี 2554 ซึ่งได้ทำประกันความเสี่ยงไว้อีก 47 ล้านบาท ซึ่งบันทึกเป็นรายรับในปีนี้ ในขณะที่ตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายทางการเงินลงอีก 100 ล้านบาทจากปีที่ผ่านมา
นางพเยาว์กล่าวว่า ปี 2556 บริษัทมีกำไร 4,835 ล้านบาท ถือว่าเป็นปีที่มีกำไรสูงสุดนับแต่ก่อตั้งบริษัทมา โดยเป็นกำไรจากการดำเนินงานปกติ 2,000 ล้านบาท และกำไรจากรายการพิเศษประมาณ 2,800 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญคือการได้ปรับขึ้นค่าผ่านทาง ปริมาณจราจรในช่วง 10 เดือนปี 56 เติบโตถึง 2.4% แต่มาช่วงปลายปีมีสถานการณ์การเมือง ทำให้ปริมาณจราจรเติบโตเฉลี่ย 1% ในขณะที่รายได้เติบโต 3% ซึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจลงทุนใน TTW ใน CKP ซึ่งมีผลตอบแทนดีมาก
สำหรับโครงการก่อสร้างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 16.7 กม. มูลค่า 25,491 ล้านบาท สัญญาสัมปทาน 30 ปีนั้น ล่าสุดการก่อสร้างมีความคืบหน้า 19% ซึ่งเร็วกว่าแผน แม้ว่าจะมีปัญหาบ้างเนื่องจากต้องก่อสร้างบนที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แต่ได้รับความร่วมมือจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เจ้าของโครงการ กับ ร.ฟ.ท.ด้วยดี และในเดือนพฤษภาคมผู้รับเหมามีแผนจะเพิ่มเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อเร่งรัดงานให้เร็วขึ้นอีกด้วย โดยในปี 2557 จะใช้เงินลงทุนโครงการประมาณ 7,092 ล้านบาท
เร่งเปิดทางเชื่อมด่วนศรีรัช ช่วงอโศก-ศรีนครินทร์ กับถนนจตุรทิศ ช่วง ค.
ส่วนโครงการก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัชช่วงอโศก-ศรีนครินทร์ กับถนนจตุรทิศ ช่วง ค. เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนจากบริเวณดินแดง มักกะสัน ผ่านจตุรทิศต่อเนื่องมาที่ทางพิเศษศรีรัช ช่วงอโศก-ศรีนครินทร์ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 นั้น ขณะนี้งานก่อสร้างมีความคืบหน้าประมาณ 90% ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ โดยจะสามารถเปิดให้บริการได้ในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ จากแผนเดิมกำหนดแล้วเสร็จ 31 พฤษภาคม ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนของขาออกเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และเพิ่มความสะดวกสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากถนนศรีอยุทธยา ถนนราชปรารภ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนเพชรบุรี และถนนดินแดงเพื่อเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือมอเตอร์เวย์ หรือเดินทางเชื่อมต่อเนื่องใช้ทางพิเศษฉลองรัชเพื่อไปถนนลาดพร้าว และถนนรามอินทรา
อย่างไรก็ตามคาดว่า หลังเปิดให้บริการจะมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 12,000 คันต่อวัน โดยมีสัญญาสัมปทานตั้งแต่ปี 2557-2570 จัดเก็บค่าผ่านทางที่ 25 บาท (รถ 4 ล้อ) คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 7.5 ล้านบาทต่อเดือน โดยเมื่อรวมกับปริมาณจราจรของด่านอโศก 3 จากเดิมมีผู้ใช้บริการ59,000 คันต่อวัน เป็น 71,000 คันต่อวัน